เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นางสุจิตรา พัฒนะภูมิ รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาครูอยู่ในสถานศึกษาไม่นานก็จะขอย้ายกลับภูมิลำเนา หรือย้ายตามคู่สมรสทำให้การจัดการเรียนการสอนขาดความต่อเนื่อง เด็กไม่มีความใกล้ชิดกับครู ส่งผลถึงคุณภาพการจัดการศึกษาในภาพรวม โดยที่ประชุมอยากให้ครูอยู่ในสถานศึกษาประมาณ 4-5 ปีเพื่อให้การทำงาน เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงแก้ปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ในโยกย้าย ซึ่งปัจจุบันอำนาจในการดำเนินการดังกล่าวอยู่ที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการ ศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา จึงอาจต้องมาดูให้เหมาะสมว่าควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่อย่างไร ขณะนี้ ก.ค.ศ.ได้จัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว แต่คงไม่สามารถให้รายละเอียดได้ ต้องเสนอให้ อ.ก.ค.ศ.พัฒนานโยบายและระบบบริหารงานบุคคลพิจารณาก่อนเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.ให้ความเห็นชอบวันที่ 22 กรกฎาคมนี้
รองเลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า ก.ค.ศ.ยังหารือถึงการปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมถึงการสอบ อื่นๆ ทุกประเภท เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ เหมือนที่ผ่านมา อาทิ ในส่วนของการสอบครูผู้ช่วยที่ให้อำนาจเขตพื้นที่ฯเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ แต่มีปัญหาการทุจริต หรือร้องเรียนเรื่องมาตรฐานข้อสอบและการจัดสอบของแต่ละเขตไม่เท่าเทียมกัน หรือบางเขตพื้นที่ฯไม่ยอมเปิดสอบทั้งที่มีอัตราว่าง แต่รอใช้บัญชีของเขตพื้นที่ฯอื่น ขณะที่ในส่วนของการสอบคัดเลือกตำแหน่งรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสถานศึกษา ครั้งล่าสุดซึ่งให้เขตพื้นที่ฯจัดสอบและ สพฐ.ออกข้อสอบภาค ก ก็มีปัญหาข้อสอบผิดพลาด
"ขณะนี้อำนาจในการดำเนินการจัดสอบและบรรจุแต่งตั้งทั้งหมดอยู่ที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ทั้งการโยกย้ายครู และการจัดสอบคัดเลือกต่างๆ ดังนั้นจึงต้องหามาตรการมาปิดช่องโหว่ตรงนี้ ไม่ให้เกิดปัญหาร้องเรียนเรียกรับผลประโยชน์ รวมถึงทำให้การจัดสอบคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกประเภทมีความโปร่งใส เป็นธรรม ซึ่งคาดว่าหลังจาก ก.ค.ศ.ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายครูฯเรียบร้อยแล้ว ก.ค.ศ. จะเร่งดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การ สอบคัดเลือกครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกประเภทให้เรียบร้อยต่อไป" รองเลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าว
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 17 ก.ค. 2558 (กรอบบ่าย)