มิติใหม่การศึกษา ... เดินหน้า TEPE Online พัฒนา “ครู”
สนับสนุน “ครูตู้” พัฒนาเด็กไทยอย่างเท่าเทียม
กระทรวงศึกษาธิการ เปิดมิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญของการ “ปฏิรูปการศึกษาไทย” ที่จะก่อเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมตามมา
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำในวันเดินทางไปเป็นประธานเปิดงาน มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ตนให้ความสำคัญกับคุณภาพของบุคลากรค่อนข้างสูง จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเรายังขาดครูที่มีความสามารถ มีความรู้รอบด้าน ซึ่งตนได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการไปช่วยกันบูรณาการ นำการศึกษาเรียนรู้ทางเทคโนโลยี ร่วมกับการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูและการเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกกลุ่ม
สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการศึกษามิติใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่นอกจากมุ่งหวังให้เด็กเรียนเก่ง เรียนดีแล้ว ยังต้องมีคุณธรรมประจำใจ พร้อมๆ กับการยกระดับคุณภาพการศึกษาและสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า มิติใหม่การศึกษาไทย จะเป็นเรื่องของการใช้ดิจิตอลเข้ามาในเรื่องของการศึกษามากขึ้น เช่น การพัฒนา “ครู”...เพื่อเดินหน้าประเทศไทย ด้วยระบบ TEPE Online ที่จะช่วยให้ครูสามารถเรียนรู้พัฒนาได้อย่างทั่วถึง...ทุกที่..ทุกเวลาด้วยตนเอง ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ DLIT และระบบ DLTV ซึ่งจะส่งผ่านความรู้จากสัญญาณดาวเทียม ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา อาจเรียกได้ว่าเราจะใช้ศูนย์การเรียนรู้ดิจิตอลมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพครูและนักเรียนให้ได้ทั่วถึงทั่วไทย เพื่อลดช่องว่างของปัญหาการขาดโอกาสเข้าถึงทางการศึกษา
การเรียนการสอน โรงเรียนขนาดเล็กก็จะใช้ระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งได้ผลอยู่แล้ว โดยน้อมนำโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ พร้อมขยายผลออกไป 15,369 โรงเรียน มีการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ครบถ้วน แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่อาจมีปัญหาเรื่องครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงสาขาที่จบมา ทางแก้ก็คือใช้ระบบทางไกลผ่านดาวเทียม “ครูตู้” หรือระบบที่เรียกว่า “DLTV” จึงเป็นแนวทางพัฒนาที่ถูกต้อง
“DLTV แต่เดิมเราใช้ต้นแบบโรงเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนไกลกังวลโรงเรียนเดียว แต่ทีนี้ DLIT เราก็จะไปคัดเลือกโรงเรียนที่เก่งในแต่ละเรื่อง เช่น โยธินบูรณะเขาอาจจะเก่งเคมี ม.5 เขาก็เป็นโรงเรียนต้นทาง แล้วถ่ายทอดลงมา โรงเรียนใดที่ต้องการที่จะใช้ คือโรงเรียนไหนที่ไม่เก่งในเรื่องของเคมี ม.5 ก็ไปรับสัญญาณตรงนี้แล้วก็มาขยายผลในการเรียนการสอนได้เลย”
พลเอกสุรเชษฐ์ ย้ำว่า โรงเรียนไหนที่เห็นความสำคัญตรงนี้แล้วบอกว่าตัวเองไม่เก่ง...อยากเห็นโรงเรียนเก่งๆ ว่า เขาสอนยังไงก็เอาระบบตรงนี้ รับสัญญาณตรงนี้เข้ามา ก็จะพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้ ทั้ง DLTV กับ DLIT ก็เป็นระบบดิจิตอลที่เราจะเข้าไปพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กกับขนาดกลาง
ส่วนระบบประเมินผลของครู ก็จะใช้ระบบที่เรียกว่า “TEPE Online” แก้ปัญหาในอดีตที่ครูส่วนใหญ่จะละทิ้งจากห้องเรียนเพื่อไปอบรม ไปทำเอกสาร ไปประเมิน ไปทำอะไรต่างๆ เด็กก็จะไม่ค่อยได้เรียน
ระบบ TEPE Online จะเข้ามาแก้ปัญหาคือจะให้ครูเรียนนอกเวลา เวลา 4 โมงเย็นระบบ TEPE Online จะเปิด ครูก็เข้าไปเรียนเหมือนเป็นระดับชั้น...ระดับ 1...ระดับ 2...ระดับ 3 ลงทะเบียนแล้วก็ไปเรียน เรียนเสร็จก็จะมีการประเมินทางออนไลน์ ครูก็จะมีแค่คอมพิวเตอร์ที่อยู่ในห้องเรียนหรือมีโน้ตบุ๊ก ก็สามารถเรียนได้ แล้วระบบเปิดหลังจากที่ครูเลิกสอนแล้วไม่กระทบต่อการสอนแน่นอน
ระบบไอทีสารสนเทศจะถูกนำมาใช้มากขึ้น...พัฒนาเรื่องของการเรียนการสอน แล้วก็การพัฒนาครูในอนาคตเราคงปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ แอพพลิเคชั่นต่างๆถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เด็กๆสามารถเรียนบนมือถือ เรียนบนอุปกรณ์ต่างๆได้ เพียงแต่เราจะต้องพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
“ครู”...มีศักยภาพมากขึ้น “เด็ก”...ก็จะเก่งขึ้น พลเอกสุรเชษฐ์ บอกว่า วันนี้เราเน้นโรงเรียนขนาดเล็ก แล้วก็จะขยายระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ยังไม่ต้องไปแตะโรงเรียนใหญ่พิเศษ...สวนกุหลาบ เตรียมอุดม สาธิตฯ เพราะมีศักยภาพมากแล้ว แทบจะไม่ต้องพัฒนาอะไร อาจจะเสริมแค่เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เท่านั้น
เราอบรมทางไกลครูทั่วประเทศ ให้เด็กเรียน “โทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม” อย่าเข้าใจผิดคิดว่าแค่เปิดทีวีให้เด็กดูแล้วเด็กจะเรียนตาม ไม่ใช่แน่ ? “ครู” ในห้องก็มีหน้าที่ปลุกเร้าเด็กให้มีปฏิสัมพันธ์ตามที่ครูตู้สอน คอยเป็นพี่เลี้ยงกำกับดูแล ถ้าเด็กคนไหนตามไม่ทัน ครูก็ต้องมีหน้าที่ไปจี้ แทนที่ครูจะสอนอย่างเดียวแล้วก็ไม่รู้ว่าเด็กทำอะไรกันหลังห้องเรียน ก็เหมือนมีครู 2 คนช่วยกันสอนช่วยกันดูเด็กในห้องเรียน
และนี่คือแนวคิด มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย ของ พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะนำไปประยุกต์เพื่อการปฎิรูปการศึกษาอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาเรื่องบุคลากรตามที่ ท่านนายกได้กล่าวไว้