ก.ค.ศ.ตั้งทีมหาวิธีขึ้นเงินเดือนครู
บอร์ด ก.ค.ศ.ตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบการขึ้นเงินเดือนข้าราชการครู หลัง สนช.ขอให้เปลี่ยนจากการขึ้นเป็นขั้นมาเป็นเปอร์เซนต์เหมือนข้าราชการทั่วไป แต่ ศธ.ยังไม่รับปากขอศึกษาข้อดี ข้อเสียก่อน
วันนี้(28พ.ค.)นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เปิดเผยผลการประชุม ก.ค.ศ.ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.)เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้รับทราบกรณีที่ ก.ค.ศ.มีหนังสือเวียนแจ้งเรื่อง บัญชีเงินเดือนตาม พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงิน วิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่3) พ.ศ.2558 ที่มีมีการประกาศใช้พร้อมหลักเกณฑ์ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการปรับเงินเดือนตามที่กำหนด นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้หารือกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช) ขอให้ ก.ค.ศ.ปรับวิธีการปรับเงินเดือนของข้าราชการครู จากปัจจุบันที่ปรับขึ้นเป็นแท่งหรือขั้นเงินเดือน มาเป็นแบบช่วงหรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไปให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดย สนช.มีหนังสือสอบถามแนบท้ายมาด้วยว่า หากปรับวิธีการขึ้นเงินเดือนเป็นแบบช่วงแล้วมีปัญหาขอให้แจ้งไปที่ สนช. ที่ประชุมจึงมีมติให้ ก.ค.ศ.ไปตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ของการปรับขึ้นเงินเดือนทั้งสองรูปแบบว่าควรจะใช้แบบใด โดยรมว.ศธ.ได้ให้นโยบายว่า ให้คำนึงถึงวิธีการที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง
นางรัตนา กล่าวต่อไปว่า การขึ้นเงินเดือนทั้งสองรูปแบบมีความแตกต่างกันที่ แบบช่วงจะทำให้สามารถปรับเพิ่มเงินเดือนได้ตามวงเงิน 6% ของจำนวนงบประมาณที่ได้รับ โดยส่วนราชการต่าง ๆ จะต้องไปคิดจำนวนเงินที่จะปรับเป็นเปอร์เซ็นต์เอง ซึ่งจะมีปัญหาว่าอาจจะคิดผิดคิดถูกและทำให้รวนทั้งระบบ ขณะที่แบบขั้นตามที่ดำเนินการอยู่จะทำให้มีวงเงินเหลือ ซึ่งแต่ละขั้นก็มีวงเงินกำหนดที่แน่นอนไว้แล้ว
“สนช.อยากให้ปรับเงินเดือนเป็นแบบช่วงเหมือนกับข้าราชการทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งในที่ประชุมก็ได้มีการวิเคราะห์ โดยยกตัวอย่างว่า ถ้าในโรงเรียนที่มีครูน้อย แล้วใช้การขึ้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์จะได้รับการขึ้นเงินเดือนน้อย ขณะนี้ที่การขึ้นเป็นขั้นจะได้เพิ่มมากกว่า ดังนั้น รมว.ศธ.จึงให้ไปวิเคราะห์หารูปแบบที่เหมาะสมและดีที่สุดก่อน” เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าว
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 28 พฤษภาคม 2558