เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมศรีพฤทธาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ นายประวิทย์ บึงไสย์ ประธานชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยนายวิทยา พันธุ์เพ็ง ประธานชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ ร่วมกันจัดการประชุมสัมมนาเหลียวหลังแลหน้าการปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษที่ 21 เพื่อระดมสมองหาแนวทางกำหนดทิศทางการปฏิรูปการศึกษาไทย และเพื่อแสดงพลังในการร่วมกันคัดค้านการถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อพิทักษ์สิทธิประโยชน์และสวัสดิภาพของผู้ประกอบวิชาชีพครู โดยมีสมาชิกชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาชิกชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ จำนวนกว่า 250 คน เข้าร่วมสัมมนาด้วย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบประจำพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
นายวิทยา กล่าวว่า ทางชมรมฯ เป็นองค์กรเพื่อส่งเสริมวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อพิทักษ์สิทธิประโยชน์และสวัสดิภาพของผู้ประกอบวิชาชีพครู ในการบริการทางด้านวิชาการและประสานองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ของการศึกษาชาติ และด้วยในสถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเสวนาระดมความคิดสรุปสภาพปัญหาและร่วมกันกำหนดทิศทางการปฏิรูปการศึกษาไทย เพื่อให้สนองต่อความจำเป็นต้องการของสังคม ประเทศชาติ จึงได้จัดการประชุมสัมมนาดังกล่าวขึ้นในครั้งนี้ สภาพปัญหาในปัจจุบันพบว่า จากการประเมินและผลสรุปทางสังคมเป็นที่ยอมรับตรงกันว่า คุณภาพการศึกษาทั้งประเทศตกต่ำ ตามที่ปรากฏในข้อบ่งชี้ คือ
1.ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ
2.สถิติการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อยู่ในระดับสูง
3.ผลการประเมินทดสอบในระดับอาเซียนไทยอยู่ที่อันดับ 8 จาก 10 ประเทศ และ
4.คนไทยตกงานกว่าแสนคน
โดยสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเกิดจากกระทรวงศึกษาธิการรวบอำนาจการจัดการศึกษาไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาของรัฐ มีเป้าหมาย คือ กระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้ อปท. ซึ่งการศึกษาจะไม่เป็นเอกภาพ แต่จะเป็นไปตามสภาพของอิทธิพลทางการเมืองท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ และขาดความต่อเนื่องทางนโยบายทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนคณะบริหารในแต่ละสมัยการเลือกตั้ง
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ซึ่งแนวทางการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว ถือเป็นการทำลายศรัทธาที่สังคมมีต่อวิชาชีพ ด้วยการใส่ร้ายป้ายสี ดูถูกหมิ่นหยามผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษา นิเทศก์ ต่อสาธารณะ จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นการเจตนาตั้งธงนำการศึกษาของชาติไปอยู่ในการจัดการของท้องถิ่นโดยนัยแห่งกฎหมาย ผู้อยู่ในวงการศึกษาห่วงใยต่อการนำการศึกษาไปสู่การถอยหลังเข้าคลอง ซึ่ง อปท. เคยจัดการศึกษาที่ล้มเหลวมาแล้วเมื่อครั้งอดีตก่อนปี 2521 จนเกิดการปฏิรูปและถ่ายโอนเป็น สปช. และสพฐ. ตามลำดับมา ปัจจุบันปัญหาการศึกษาอยู่ที่ตัวหลักสูตร การผลิตครู งบประมาณที่ไม่ถึงสถานศึกษา และสถานศึกษาไม่เป็นนิติบุคคลเต็มรูปแบบ การปฏิรูปการศึกษาควรที่จะเป็นประเด็นเหล่านี้.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 28 พ.ค. 2558 (กรอบบ่าย)