ศธ.เตรียมเสนอของบ 8 พัน-1 หมื่นล้าน หนุนกลุ่ม ม.ราชภัฏ 40 แห่ง เป็นแกนหลักตามจังหวัดต่างๆ พัฒนาแรงงานให้มีทักษะการทำงานระดับสูง รองรับอุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศในอนาคต
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ผู้ช่วยเลขาฯ รมว.ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีนโยบายจะพัฒนากลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ คือ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง ให้สามารถพัฒนาแรงงานที่มีความสามารถทักษะระดับสูง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศไทยในอนาคต และจากการประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเชีย-ยุโรป เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้ลงความเห็นว่า แทบทุกประเทศได้เผชิญกับปัญหาการศึกษากับการมีงานทำ ความสามารถในการได้งานของผู้จบการศึกษา ทั้งระดับอาชีวะและระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ซึ่งหลายประเทศได้เผชิญปัญหาหนักกว่าไทย ส่วนประเทศไทยนั้นพบว่าภาคการศึกษาไม่สามารถผลิตกำลังคนให้รองรับตลาดแรงงาน ภาคการผลิต และภาคอุตสาหกรรมได้ทัน ดังนั้นโจทย์สำคัญคือภาคการศึกษาทั้งอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาจะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบปี 2559 ประมาณ 8 พันถึง 1 หมื่นล้านบาท เพื่อมุ่งพัฒนากลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ให้สามารถพัฒนาทักษะฝีมือระดับสูงของผู้เรียนออกมารองรับการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมไฮเทคที่จะเกิดขึ้นอีกมากในประเทศไทย ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิตของประเทศ และทำให้ไทยสามารถสร้างตลาดที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงต่ำกว่าประเทศไทยได้ นอกจากนี้ ในงานประชุมราชภัฏวิจัย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการพูดถึง 3 เรื่องสำคัญ เพื่อจะปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมดให้เป็นหลักในการพัฒนาจังหวัดและท้องถิ่น คือ 1.การสร้างความร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยภูมิภาค 9 เครือข่าย กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง เพื่อให้เกิดเครือข่ายพัฒนาครูประจำการในทุกจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีทุนครูสอนดีของ สสค.อยู่ประมาณ 2 หมื่นคน รวมกับครูที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกโครงการรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรีอยู่ทุกจังหวัด เป็นต้น โดยการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยภูมิภาคกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ยุคใหม่ ช่วยให้ครูได้รับการส่งเสริมเติมเต็มความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถเรื่องที่สำคัญๆ อาทิ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขีดความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ด้านการใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ ด้านการสอนคณิต วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรม
นายอมรวิชช์กล่าวต่อว่า 2.เพื่อรองรับการกระจายความรับผิดชอบในการพัฒนาประเทศลงไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นตามทิศทางของรัฐธรรมนูญ ในการสร้างขีดความสามารถของท้องถิ่น อาทิ การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ ความสามารถในการสร้างระบบธรรมาภิบาลและการตรวจสอบ ความสามารถในการมีสร้างการมีส่วนร่วมของของประชาชน รวมถึงสร้างขีดความสามารถในการจัดการด้านต่างๆ อาทิ บริการด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นโจทย์ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมด ในการร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยกลุ่มภูมิภาค เพื่อทำให้พื้นที่และจังหวัดมีขีดความสามารถร้องรับการกระจายอำนาจได้ 3.ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นคลังข้อมูลการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยผลการวิจัยที่จะทำให้เกิดข้อมูลในเรื่องความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนข้อมูลการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ออกจากระบบการศึกษาในระดับต่างๆ ข้อมูลด้านทรัพยากรเพื่อการจัดการน้ำ การบริหารจัดการที่ดินและพื้นที่ทางการเกษตร ตลอดจนข้อมูลด้านสังคม ข้อมูลด้านการศึกษา ครอบครัว ด้านเด็กและเยาวชน ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
"ศธ.มีความเชื่อมั่นว่าหากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมดรวมตัวกันทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยภูมิภาค 9 เครือข่าย ก็จะมีศักยภาพในการตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อนี้ได้สำเร็จอย่างแน่นอนในอนาคต และจะเกิดประโยชน์มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ในทุกพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันจัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม เพื่อเสนอต่อรัฐบาลของบปี 2559 จำนวน 8 พันล้าน ถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อไป" ผู้ช่วยเลขาฯ รมว.ศธ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 25 พฤษภาคม 2558