ที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ.ระดมความเห็นถกร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา พบหลายประเด็นมีปัญหาโดยเฉพาะมาตรา 52 และมาตรา 286 "ณรงค์" สรุปข้อมูลเสนอรองนายกรัฐมนตรี
วันนี้ (29 เม.ย.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานในกำกับ เพื่อพิจารณาแสดงข้อคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีหลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. และอาจจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้พิจารณาเฉพาะมาตราหลัก ได้แก่ มาตรา 52 ที่ระบุว่าพลเมืองย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาที่มีคุณภาพและหลากหลายอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาสายสามัญและอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีประเด็นว่าในมาตราดังกล่าวใช้คำว่าพลเมือง บุคคล และประชาชน ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างกัน เพราะพลเมืองจะหมายถึงคนไทย ในขณะที่ประชาชนหมายถึงคนทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย ซึ่งหมายรวมถึงคนต่างด้าว คำว่าปฐมวัยที่ยังไม่แน่ใจว่าหมายถึงเด็กช่วงอายุใด จะเป็น 0-6 ปีหรือไม่ และที่สำคัญคือการระบุว่าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“เรื่องนี้ทราบว่าทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอให้ตัดคำดังกล่าว เพราะเห็นว่ารัฐไม่จำเป็นต้องสนับสนุนทุกคน เพราะมีบางกลุ่มช่วยเหลือตัวเองได้ ในขณะที่ ศธ.เห็นว่าจำเป็นต้องคงไว้ในรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้นอาจกลายเป็นประเด็นว่าไปเก็บเงินจากนักเรียน แต่อาจจะมีการปรับถ้อยคำโดยรัฐต้องให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พอเพียง ส่วนรายละเอียดอื่นให้ไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูก” รมว.ศธ. กล่าวและว่า มาตรา 84 ที่ระบุให้รัฐต้องจัด ส่งเสริม และทำนุบำรุงการศึกษา อบรมทุกระดับและทุกรูปแบบ ซึ่ง ศธ.สามารถดำเนินการได้ไม่เป็นประเด็นสำคัญเพียงแต่มีปัญหาการใช้ถ้อยคำ อาทิ รัฐต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่เพียงพอ รวมถึงค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของปราชญ์ชาวบ้าน
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรา 286 ที่ระบุให้มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองดี มีความรู้ความสามารถ โดยกำหนดรายละเอียดไว้ 12 ข้อ อาทิ การกระจายอำนาจ การจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวโดยตรงแก่นักเรียนทุกคนอย่างเพียงพอตามความจำเป็น การปรับปรุงการอาชีวศึกษา การปรับปรุงระบบอุดมศึกษา การพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในวงการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวโดยตรงแก่นักเรียน และเห็นว่าไม่ควรจะกำหนดรายละเอียดเป็นข้อๆ แต่ควรจะเขียนในภาพรวมที่ครอบคลุมเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพราะอาจจะมีเรื่องจำเป็นอื่นๆที่ต้องทำ และมองว่าการลงรายละเอียดลงในรัฐธรรมนูญจะทำให้แก้ยาก ทั้งนี้ ตนจะรวบรวมความคิดเห็นดังกล่าวเสนอต่อ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกับข้อเสนอของกระทรวงต่างๆ ก่อนที่จะนำเสนอในนามรัฐบาลต่อไป.
ที่มา เดลินิวส์ วันพุธที่ 29 เมษายน 2558