นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงการปรับโครงสร้างหลักสูตรขั้นพื้นฐานที่จะมีการปรับใหม่ว่า เร็วๆ นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดในลักษณะแบบผ่อนคลาย หมายความว่า สพฐ.จะปรับการเรียนการสอนของระดับชั้นต่างๆ โดยวิเคราะห์ว่าระดับชั้นใดควรจะเน้นการเรียนการสอนในวิชาใดบ้าง อาทิ การเรียนการสอนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่จำเป็นต้องเน้นวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และภาษาอังกฤษ เป็นพิเศษ เนื่องจาก สพฐ.มองว่าหากเด็กมีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้อย่างดีแล้ว ก็จะสามารถเรียนวิชาอื่นได้อย่างดีเช่นกัน
สำหรับในรายการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ ในระดับประถมศึกษาก็ยังคงมีการเรียนอยู่ ทั้งนี้เมื่อเด็กเลื่อนชั้นในระดับประถมศึกษาปีที่ 2 ก็จะมีการปรับสัดส่วนใหม่ ให้ทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชามีสัดส่วนการเรียนการสอนที่ใกล้เคียงกัน และเมื่อจบช่วงชั้นแรกคือชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แล้ว เด็กจะสามารถเรียนครบตามหน่วยกิตที่กำหนดไว้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถทำให้โรงเรียนบริหารจัดการเรื่องของการเรียนการสอนได้ อาทิ โรงเรียนนี้อ่อนวิชาภาษาไทย ก็จะมีการเน้นเป็นพิเศษ
“ในอดีตการจัดการเรียนการสอนในแต่ละระดับชั้นจะมีการกำหนดหน่วยกิตและชั่วโมงเรียนไว้อย่างชัดเจน ว่าวิชาไหนมีกี่หน่วยและจะต้องเรียนกี่ชั่วโมง ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาของทุกระดับชั้นก็จะอยู่ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ซึ่ง สพฐ.มองว่าไม่จำเป็น” เลขาฯ กพฐ.กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนแบบผ่อนคลาย สพฐ.จะมอบอำนาจในการจัดการชั่วโมงเรียนวิชาต่างๆ ได้เอง และโรงเรียนอาจจะจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการหรือการจัดกิจกรรมก็สามารถทำได้เต็มที่ ไม่มีการบังคับ แต่จำนวนหน่วยกิตสำหรับการจบในแต่ช่วงชั้นยังคงเดิม เพียงแต่ไม่ได้กำหนดว่าวิชาใดควรเรียนกี่ชั่วโมงหรือเรียนในรูปแบบใดเท่านั้น.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 6 เมษายน 2558