ชี้แผนปฏิรูปยังจำเป็นต้องมี สมศ.อมรวิชช์เผยเพื่อทำหน้าที่ตอบคำถามสังคมคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ระดับไหน
"อมรวิชช์" ให้ความเห็นในแผนปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องมี "สมศ." ไว้ประเมินคุณภาพการศึกษาต่อไป ชี้หากไม่มีกลไกทำหน้าที่ประเมินก็ไม่มีคำตอบให้สังคม ถือเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินใหม่ ชี้ปัญหาที่ผ่านมา ศธ.ไม่นำผลประเมินไปใช้ปรับปรุงโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพ ทำให้การประเมินไม่เกิดประโยชน์แท้จริง เผยวิทยฐานะครูมีโอกาสถูกถอดถ้าไม่สามารถรักษาคุณภาพการสอนไว้ได้
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ การปฏิรูปการศึกษากับการผลิตและพัฒนาผู้ครูโดยใช้การเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัย ในงาน "แบ่งบันปัญญา : เพื่อปัญญาที่งอกงามของครูและนักเรียน" ซึ่งเป็นเวทีนำเสนอผลงานนักเรียนระดับประเทศ โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เนื้อหาตอนหนึ่งได้กล่าวถึงทิศทางการปฏิรูปการศึกษาในความเห็นของตนเองว่า แม้จะมีการปฏิรูปการศึกษาแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องมีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. ต่อไป เพราะการประเมินคุณภาพการศึกษายังเป็นสิ่งจำเป็น โดยผลการประเมินที่ออกมาถือว่าเป็นการตอบคำถามสังคมว่าคุณภาพการศึกษาเป็นอย่างไร
"ในความเห็นผม เห็นว่าถ้าเราไม่มีสถาบันประเมินคุณภาพการศึกษาเลยถือว่าเป็นเรื่องน่ากลัว" นายอมรวิชช์กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม แต่บทบาทระยะต่อไปของ สมศ.หลังการปฏิรูปจำเป็นต้องใช้คำว่า "ปิดปรับปรุง" ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินใหม่ รวมทั้งลดระยะเวลาการประเมินและประเมินสถานศึกษาแบบเจาะกลุ่ม ซึ่งปัญหาของ สมศ.ที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้นำผลการประเมินของ สมศ.มาใช้ เช่น หากประเมินพบว่ามีโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพ แต่โรงเรียนเหล่านี้กลับไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ดังนั้นในการทำงานของ สมศ.ต่อไป คือการประเมินแบบเจาะกลุ่ม ไม่ได้ประเมินทุกสถานศึกษาเหมือนที่ผ่านมา"
นายอมรวิชช์กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องวิทย ฐานะของครูที่จะเปลี่ยนวิธีการประเมิน จากการให้ครูต้องทำเอกสารเพื่อขอวิทยฐานะ ก็จะเป็นการให้ผู้เชี่ยวชาญ 3 คนมาประเมินวิธีการทำงานและการสอนของครู และความเห็นของตนเห็นว่าควรมีการประเมินวิทยฐานะครู หากครูไม่สามารถรักษาระดับคุณภาพตามวิทยฐานะไว้ได้ ก็อาจมีการถอนวิทยฐานะเช่นเดียวกับตำแหน่งนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ทั้งตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ก็มีสิทธิ์ ถูกยกเลิกได้หากไม่มีผลงานวิชาการออกมาต่อเนื่อง.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์