[ ข่าวเมื่อ 23 มี.ค. 2558 ] ศรีราชาเผยแผนกระจายอำนาจจัดการการศึกษาสู่ท้องถิ่น เพิ่มอำนาจผู้ว่าฯ ดูแล จัดการ รับผิดชอบงานด้านการศึกษา ส่งผลให้เขตพื้นที่ฯ หมดความจำเป็นต้องยุบตัว ชี้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปการศึกษาโดยรวม และยังตัดวงจรผลประโยชน์ พวกพ้องอีกด้วย
นายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ว่าการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้จำเป็นจะต้องร่าง พ.ร.บ.ขึ้นใหม่ 13 ฉบับ เพื่อที่จะให้เกิดหน่วยงานที่จะมาทำหน้าในการควบคุมดูแลในแต่ละด้านของการศึกษา อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ที่จะทำหน้าที่เหมือนซูเปอร์บอร์ดดูแลนโยบายด้านการศึกษาให้มีความต่อเนื่อง, ร่าง พ.ร.บ.การจัดการและบริหารการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... เป็นต้น
ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.การจัดการและบริหารการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... เป็นร่างที่กระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในด้านการบริหารงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา เนื่องจากตนมีความเห็นว่าการกระ จายอำนาจให้แก่ อปท.เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยต้องเริ่มจากการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญในการจัดการศึกษา และควรแสดงให้เห็นว่าท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการศึกษาพัฒนาบุคลากรด้วย ไม่ใช่เพียงแต่งานก่อสร้าง หากทำได้จะเป็นการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนจำนวนน้อยด้วย เพราะท้องถิ่นจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
นายศรีราชากล่าวต่อว่า ในอดีตจังหวัดไม่เคยเข้ามามีส่วนในการรับผิดชอบทั้งในเรื่องการจัดการศึกษาและคุณภาพของการศึกษา เนื่องจากมีสำนักงานเขตพื้นฐานการศึกษาที่อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำหน้าที่ตรงนี้ แต่ในอนาคตจะต้องเขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.ถึงอำนาจหน้าที่การเข้ามาจัดการการศึกษาของท้องถิ่นและจังหวัด ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอำนาจสั่งการ อปท.สามารถควบคุมดูแลการศึกษาได้ อาทิ การสั่งสร้างโรงเรียน การลงโทษครู เป็นต้น ไม่ต้องส่งเรื่องมาถึงส่วนกลาง
"ในอนาคตหากมี พ.ร.บ.การจัดการและบริหารการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดขึ้นจริง จะทำให้การทำงานด้านการศึกษามีความง่ายมากขึ้น เพราะทางจังหวัดสามารถเชื่อมต่อกับ ศธ.ได้โดยตรง หรืออาจจะผ่านหน่วยงานที่มีลักษณะคล้ายศึกษาธิการจังหวัดในอดีต ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีเขตพื้นที่ฯ และผมคิดว่าการมีเขตพื้นที่ฯ ทำให้ส่งผลต่างๆ อาทิ การบริหารงานบุคคลที่ใช้ระบบอุปถัมภ์ พวกพ้อง เป็นต้น" ผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์