แบงก์จัดทัพทีมทวงหนี้รับ กม.ใหม่ ติวเข้ม "อบรม" วิธีเจรจาต่อรอง-ยึดหลักสูญน้อยสุด
สถาบันการเงินปรับทัพทวงหนี้ รับลูกกฎหมายใหม่บังคับใช้แล้ว แบงก์เร่งอบรมวิธีการทวงอย่างถูกกฎหมายให้พนักงาน ชี้ระวังตัวแจจ้างบริษัทนอกตามหนี้ หวั่นทวงพลาดกระทบถึงผู้ว่าจ้าง ห่วงคนไม่ดี "เบี้ยวหนี้" ง่ายขึ้น
หลังพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา และจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับตั้งแต่วันประกาศนั้น ซึ่งจะส่งผลต่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการมีพระราชบัญญัติ
นายโชค ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ฉบับใหม่จะส่งผลให้ทำงานยากขึ้นในบางเรื่อง และต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นเพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยในส่วนของธนาคารจะใช้ทีมติดตามทวงหนี้ภายใน ดังนั้น ก็ต้องจัดฝึกอบรมวิธีการในการติดตามทวงหนี้ให้แก่ทีม เพื่อป้องกันไม่ให้ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากฎหมายนี้จะส่งผลดีกับลูกหนี้มากกว่า ขณะที่ด้านเจ้าหนี้อาจจะติดตามหนี้ได้ยากขึ้น และหากวิธีการทำงานต้องระมัดระวังมากเกินไปหรืออาจทวงหนี้ไม่ได้เลย หากลูกหนี้เป็นคนไม่ดี ซึ่งอาจเบี้ยวหนี้ได้ง่ายขึ้น
"เข้าใจว่าภาครัฐต้องการควบคุมวิธีการทวงหนี้โหดจากเจ้าหนี้นอกระบบ แต่เราหรือสถาบันการเงินอื่น โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่จ้างบริษัทภายนอกก็ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดสถาบันการเงินผู้ว่าจ้างก็ต้องรับผิดชอบด้วย ที่ผ่านมาเราก็เรียกทีมติดตามทวงหนี้เข้ามาอบรมใหม่" นายโชคกล่าว
นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการฝ่ายการตลาด บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า สถาบันการเงินทุกแห่งคงต้องปรับวิธีการติดตามทวงหนี้ใหม่ โดยต้องอบรมพนักงานใหม่ทั้งหมด ขณะที่ด้านการปล่อยสินเชื่อก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้เป็นหนี้เสียน้อยที่สุด ส่วนเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายยังต้องดูอีกระยะเวลาหนึ่งว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่
นายฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด (กรุงศรี คอนซูเมอร์) กล่าวว่า บริษัทต้องปรับตัวมากขึ้นเนื่องจากบริษัทใช้การจ้างบริษัทกฎหมายรับทวงหนี้ จึงต้องเข้มงวดในการตรวจสอบให้รัดกุมและถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก่อนกฎหมายฉบับนี้จะออกมาบังคับใช้ ก็ได้เตรียมพร้อมและหารือร่วมกันกับบริษัทรับจ้างทวงหนี้ของบริษัทไว้แล้ว
"เราจ้างบริษัทที่ดีตามหลักกฎหมายมีหลักการสุ่มตรวจ มีการส่งทีมงานของกรุงศรีฯเข้าไปอยู่กับบริษัททวงหนี้เหล่านี้ด้วย เพื่อดูกระบวนการว่าเขาทวงถามหนี้ที่ถูกต้อง ใช้วาจาสุภาพ ไม่ใช้ความรุนแรง" นายฐากรกล่าว
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า กฎหมายที่ออกมานี้ไม่น่ากระทบกับต้นทุนการทวงถามหนี้ของธนาคาร ไม่ว่าจะธนาคารรัฐหรือธนาคารเอกชน เนื่องจากเดิมทุกธนาคารก็ปฏิบัติตามแนวทางที่กฎหมายระบุอยู่แล้ว โดยส่วนที่เป็นปัญหามองว่าน่าจะเป็นการทวงหนี้นอกระบบมากกว่าที่อาจจะทวงหนี้แบบไม่สุภาพ
"ต้นทุนคงไม่กระทบมากมายแล้วก็เป็นกฎหมายที่ดี ช่วยคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งควรจะดูให้ครอบคลุมพวกหนี้นอกระบบด้วย" นายชาติชายกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวนี้ว่า กำหนดให้ผู้ที่จะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนที่ รมว.มหาดไทยแต่งตั้งขึ้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจเป็นทนายความหรือสำนักงานทนายความให้จดทะเบียนกับคณะกรรมการสภาทนายความ ขณะเดียวกัน การทวงถามหนี้ก็ต้องปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย เช่น ห้ามทวงกับคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวลูกหนี้, ห้ามละเมิด และคุกคาม ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี การเปิดเผยความเป็นหนี้ของผู้บริโภคแก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง, ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้แจ้งไว้เท่านั้น และวันทำการให้ติดต่อได้ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น. เว้นแต่ได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะที่บทกำหนดโทษแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โทษทางปกครองจะถูกปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และทางอาญาจะถูกเพิกถอนการจดทะเบียน และจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการกำกับดูแลในภาพรวม จะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ที่มี รมว.มหาดไทยเป็นประธาน นอกจากนั้น ในระดับพื้นที่จะมีคณะกรรมการประจำจังหวัด และคณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานครดูแล
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 16 มี.ค. 2558