วันนี้ (23 ก.พ.) ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง "ประเมินแบบอาสาสมัคร ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด" ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ครูอาจารย์ที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า การประเมินคุณภาพการศึกษายังจำเป็นที่สถานศึกษาทุกแห่งต้องได้รับการประเมิน แต่การประเมินจะเป็นรูปแบบใดนั้น ต้องดูบริบทของประเทศว่าจะใช้วิธีการใดเพื่ออะไร จะประเมินเพื่อดูภาพรวมๆ หรือจะประเมินเพื่อเอาผลไปใช้สำหรับการปรับปรุงพัฒนาการศึกษา
นายวิชิต สิทธิแต้สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบะไห จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า รูปแบบการประเมินแบบอาสาสมัคร หรือการประเมินแบบสุ่ม อาจไม่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาสำหรับโรงเรียนตนเองมีการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องจากการพิจารณาข้อผิดพลาด และข้อชี้แนะที่ได้รับจากหน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานประเมินการศึกษาของประเทศ โดยนำผลการประเมินรอบแรก และข้อเสนอแนะมาพัฒนาในการประเมินรอบสอง และสาม ซึ่งการประเมินยังเป็นการกระตุ้นบุคลากร ครู และผู้บริหารให้มีภาวะตื่นตัวในการจัดการเรียนการสอนตลอดเวลาด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อเยาวชนไทยในอนาคต
นางภรณ์ชภัสร์ โสตถยาคม ครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กล่าวว่า การประเมินแบบอาสาสมัครหรือแบบสุ่ม สามารถทำได้แต่คงต้องแก้กฎหมายที่ให้ทุกโรงเรียนได้รับการประเมิน อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญอยู่ที่โรงเรียนที่ได้รับการสุ่มหรืออาสาสมัครนั้น สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงได้หรือไม่ เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบพร้อมรับการประเมิน แต่โรงเรียนสวนกุหลาบจะเป็นตัวแทนของโรงเรียนได้ทั้งหมดหรือไม่ ดังนั้นการประเมินรูปแบบสมัครใจหรือสุ่ม อาจไม่ใช่ทางออกของการพัฒนาการศึกษาไทยที่นับวันจะมีปัญหามากขึ้น.
ที่มา เดลินิวส์ วันจันทร์ 23 กุมภาพันธ์ 2558