ผศ.สุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) (องค์การมหาชน) ว่า ปัจจุบันการสอบโอเน็ตยังมีปัญหาอยู่หลายมิติ โดยเฉพาะการสอบไม่ครอบคลุม สอดคล้อง เหมาะสม และเป็นไปตามมาตรฐานเพียง 1 ใน 5 มาตรฐานผู้เรียน ส่งผลให้ผู้สอบขาดแรงจูงใจและไม่ตั้งใจสอบ ที่สำคัญผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการสอบ ยังถูกนำไปตัดสินชี้ขาดการรับรองมาตรฐานคุณภาพสถานศึกษา คุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครู และนำไปพิจารณาเปรียบเทียบ แข่งขัน จัดลำดับ คาดโทษ ให้รางวัลความดีความชอบ ย้าย เลื่อนวิทยฐานะ หรือแต่งตั้งผู้บริหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
ประธานส.ค.ศ.ท. กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมีข้อเสนอ 4 ด้านให้สทศ. พิจารณา 1.ต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการสอบ จากนั้นให้ผู้มีอำนาจสั่งการทบทวน รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับครู นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชน 2.ปรับปรุงข้อสอบ และการบริหารการสอบ และออกกฎหมายควบคุมการสอบ เป็นต้น 3.ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ข้อสอบมีระดับความยากง่ายที่เหมาะสมกับระดับชั้นหรือไม่ โดยแปลข้อสอบให้เป็นภาษาต่างประเทศ อาทิ ฟินแลนด์ อังกฤษ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม และลาว จากนั้นนำไปสอบกับเด็กในประเทศนั้นๆ ที่มีระดับสติปัญญาสูง ปานกลางและต่ำ ก่อนนำผลการสอบมาศึกษาวิเคราะห์ สร้างเกณฑ์ปกติ (Norm) ของแต่ละประเทศ เพื่อพิสูจน์ว่าข้อสอบมีความเหมาะสมเพียงใด และ 4.ควรทำการนำเสนอผลการสอบเป็นคะแนนที (T-Score) แทนค่าเฉลี่ยของคะแนนดิบ (Row Score) เพราะจะอธิบายได้ว่าสถานศึกษา ชั้นเรียนหรือผู้เรียน มีความสามารถอยู่เหนือค่ากลางหรือต่ำกว่า หรือสูงกว่า 50 หรือต่ำกว่า 50
ที่มา ข่าวสด ฉบับวันที่ 5 ก.พ. 2558 (กรอบบ่าย)