คณะกรรมการปฏิรูปและผลิตครู ศธ. วางแผนพัฒนาครูระยะยาว 20 ปี หวังปั้นเป็นทรัพยากรมนุษย์ต้นแบบรองรับศตวรรษที่ 21 เสนอ ก.พ.ปรับปรุงข้อกำหนดการจ้างครู ให้พิจารณาประสบการณ์และทักษะมากกว่าวุฒิการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาขาดครูในสาขาขาดแคลน
นายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู ที่เป็นคณะอนุฯ ย่อยที่อยู่ในคณะอำนวยการการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณา (ร่าง) ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูในระยะยาว 20 ปี จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์และเป้าหมายการดำเนินงานให้ชัดเจน เพื่อการแก้ไขปัญหาในระบบครูให้ตรงจุด และรับฟังสภาพปัญหาอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ยังมีการหารือถึงกรอบแนวคิดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู เพื่อยกระดับคุณภาพครูให้เป็นครูมืออาชีพมีสมรรถนะเหมาะสมกับการเป็นครูในศตวรรษที่ 21 รวมถึงทิศทางการผลิตครูทั้งระบบให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับการต้องการใช้งานครูทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา โดยเฉพาะปัญหาสายงานครูที่ยังขาดแคลน เช่น ครูช่างอุตสาหกรรม ครูเกษตรกรรม ครูในสายผลิตและการให้บริการ เป็นต้น โดยเบื้องต้นคณะทำงานของ สกศ.ได้มีข้อสรุปเสนอให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณาปรับข้อกำหนดการจัดจ้างครูในสายขาดแคลนตามสมรรถนะ ประสบการณ์ และทักษะ มากกว่าพิจารณาตามวุฒิการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาครูในสายขาดแคลนให้ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้นแล้ว
ด้านนายสมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการในคณะอนุฯ ปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู กล่าวว่า สิ่งที่สมควรเร่งปฏิรูปและสร้างจุดร่วมทั้งในการผลิตและพัฒนาครูคือ การสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม สำหรับผู้ประกอบอาชีพครูปัจจุบันขาดหายไป ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของอาชีพคนเป็นครู รวมทั้งกระบวนการตั้งกลไกระดับชาติขึ้นมาเพื่อดูแลการผลิตและพัฒนาครู ไม่ควรมีอำนาจหน้าที่ทับซ้อน หรือทำซ้ำกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูที่ชัดเจนและตรงเป้าหมายมากขึ้น.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558