เปิดหัวเรื่องแบบนี้ไม่เว่อร์เกินจริง เพราะ “ครูเชาวน์ สุวรรณชล” ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2-6 ได้ลองใช้เทคโนโลยีสร้าง “การคิดวิเคราะห์” ให้กับนักเรียนมาแล้วและได้ผลดี
“ครูเชาวน์ สุวรรณชล” ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2-6โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็น 1 ใน 10 ของครูที่ชนะเลิศการนำเสนอผลงานทางวิชาการในการประกวด Microsoft Innovative Education (MIE) Expert ของประเทศไทยประจำปี ค.ศ.2014 และได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งเป็นตัวแทนครูจากประเทศไทยเข้าร่วมเวทีด้านการศึกษาระดับโลก Microsoft Global Educator Exchange หรือเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเทคโนโลยีด้านการศึกษา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-1 พ.ค.58 เมืองเรดมอนด์ รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีคุณครู 300 คนจากทั่วโลกเข้าร่วมงาน
“ครูเชาวน์” เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องการเรียนการสอนว่า เนื่องจากสอนนักเรียนหลายวิชา ตั้งแต่วิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับม.2 และ ม.3 วิชาชีววิทยา สำหรับ ม.4 และ ม.5 กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ ซึ่งในแต่ละวิชาพบปัญหาว่า นักเรียนขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การทำงานร่วมกัน การสื่อสารและการนำเสนอข้อมูล ทักษะการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์
เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน 3 ตัวที่ “ครูเชาวน์” หยิบมาสอนนักเรียนเพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์ ได้แก่ Microsoft PowerPoint โดยให้นักเรียนทำ Infographic เพื่อเพิ่มทักษะการสืบค้นและการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งผลที่ได้ พบว่า นักเรียนได้ประโยชน์เรื่องของการสืบค้นข้อมูล ได้ทำความเข้าใจในเรื่องที่สืบค้น แล้ววิเคราะห์ข้อมูลออกมาเพื่อนำเสนอ Microsoft OneNote โปรแกรมพื้นฐานที่มาพร้อมกับชุดโปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ช่วยในการจัดวางไฟล์ เช่น Microsoft word, Microsoft PowerPoint, Microsoft Excel รวมทั้งไฟล์รูป และไฟล์ PDF สุดท้ายคือ Sway.com เว็บแอพพลิเคชั่น เพื่อให้นักเรียนสามารถสร้างเว็บไซต์ได้ด้วยตนเอง ซึ่ง “ครูเชาวน์” สอนให้นักเรียนนำ Porfolio ที่ทำมานำเสนอผ่านเว็บแอพพลิเคชั่นนี้ ข้อดีคือสามารถเปิดดูผ่านอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ ได้ และสามารถแชร์ข้อมูลผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และยูทูบ เพื่อให้อาจารย์เข้าไปตรวจงานได้
“เมื่อเราทำให้เขาอยากเรียนรู้ เขาก็จะแสวงหาความรู้ โดยพบว่านักเรียนที่ได้ทำแบบนี้มีผลการเรียนดีขึ้น เมื่อเทียบกับนักเรียนที่ไม่ได้ทำ และเมื่อนักเรียนได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเรียนรู้และนำไปสู่การคิดวิเคราะห์แล้วก็สามารถนำไปใช้กับวิชาอื่น ๆ ได้ ซึ่งการที่จะให้นักเรียนทำแบบนี้ต้องมีความพอเหมาะพอดีไม่ได้ให้ทำในทุกคาบเรียน” ครูเชาวน์ กล่าว
ครูเชาวน์ แนะเทคนิคที่ทำให้นักเรียนสนใจที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีว่า ต้องนำเทคโนโลยีที่ง่าย ๆ มาให้นักเรียนได้ลองใช้ เพื่อให้สามารถทำได้ และเมื่อทำได้ก็จะรู้สึกสนุกและอยากที่จะทำ
นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับไมโครซอฟท์แล้ว ครูเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการศึกษา โดยมีแนวคิดแบบองค์รวมในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบ คือ ความพร้อมของบุคลากร เนื้อหาการเรียนการสอนแบบดิจิตอล ซอฟต์แวร์และบริการคลาวด์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องเรียน โดยตลอด 11 ปีที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาผ่านโครงการ Partners in Learning (PiL) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Microsoft Innovative Education (MIE) Expert (กิจกรรมการแข่งขันคุณครูหัวใจไอที) ไปแล้วกว่า 550,000 คน จาก 39,000 โรงเรียนทั่วประเทศ
“วันนี้เรามีครูยุคใหม่ที่มีกิจกรรมเพื่อการเรียนการสอนมากขึ้น และเด็กนักเรียนก็มีความคาดหวังต่อการเรียนสูงขึ้น ซึ่งไมโครซอฟท์ก็พยายามสอนให้ครูทำสื่อการเรียนการสอนแบบดิจิตอลมากขึ้น”
ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีครูรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาทดแทนครูที่เกษียณอายุไป ทำให้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเรียนการสอน เนื่องจากครูรุ่นใหม่เปิดรับเรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้น และเด็กนักเรียนก็เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ซึ่งไมโครซอฟท์ช่วยอบรมให้ครูนำเทคโนโลยีไปพัฒนาสื่อการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กนักเรียนได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ เพราะเป็นเทรนด์การเรียนการสอนที่เริ่มเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีทำให้ข้อมูลมีความสดใหม่ตลอดเวลา
“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์ได้ว่าครูไทยมีคุณภาพไม่แพ้ครูทั่วโลก เพียงแต่ต้องมีการส่งเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ทักษะด้านไอที และการประยุกต์เพื่อนำไปใช้งาน” สำหรับเวที Microsoft Global Educator Exchange ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.สุพจน์ กล่าวว่า ในงานจะเป็นการแชร์ข้อมูลของสื่อการเรียนการสอนที่คุณครู 300 คนตัวแทนประเทศต่าง ๆ นำมาจัดแสดง โดยมีคณะกรรมการร่วมพูดคุยเพื่อคัดเลือกสื่อการเรียนการสอนที่จะได้รับรางวัล ซึ่งสื่อการเรียนการสอนของ “ครูเชาวน์” มีความโดดเด่นในการนำไอทีมาเสริมเรื่องของความคิดสร้างสรรค์
มาลุ้นกันว่าการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างการคิดวิเคราะห์ให้เด็กนักเรียนของ “ครูเชาวน์” จะเข้าตากรรมการจนคว้ารางวัลการนำไอทีมาใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา จากเวทีการแสดงผลงานด้านการศึกษาของไมโครซอฟท์ระดับโลกได้หรือไม่.
น้ำเพชร จันทา
@phetchan
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันศุกร์ 23 มกราคม 2558