ทำไมต้องตีเส้นซิกแซ็กก่อนถึงทางม้าลาย
เมื่อไม่นานมานี้ หลายคนคง จะสังเกตเห็นเส้นซิกแซ็กที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ตีไว้บนผิวจราจรในบริเวณ 15 เมตรก่อนถึงทางข้ามม้าลาย
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคง จะสังเกตเห็นเส้นซิกแซ็กที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ตีไว้บนผิวจราจรในบริเวณ 15 เมตรก่อนถึงทางข้ามม้าลายเพื่อบังคับให้รถชะลอความเร็วเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ แต่ประชา ชนหลายคนอาจจะยังสงสัยว่าเส้นซิกแซ็กมีความหมายว่าอย่างไร เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหม่ไม่เคยใช้มาก่อนในเมืองไทย ทั้งนี้การตีเส้นซิกแซ็ก (zig-zag lines) ลงบนพื้นผิวจราจรเกิดขึ้นครั้งแรกปี พ.ศ. 2514 ในอังกฤษที่ได้ตีเส้นไว้ริมถนนก่อนถึงทางคนข้าม เพื่อไม่ให้ผู้ขับขี่นำรถมาจอดในบริเวณนั้น เพราะจะเป็นการบดบังทัศนวิสัยทำให้ผู้ที่กำลังข้ามถนนมองไม่เห็นรถที่วิ่งมาขณะที่ผู้ขับขี่ก็มองไม่เห็นคนที่กำลังเดินข้ามถนน และเมื่อมีการตีเส้นซิกแซ็กเพื่อห้ามจอดรถในบริเวณดังกล่าวแล้วก็จะทำให้ทั้งคนข้ามและคนที่ขับรถมามองเห็นกันและกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นการห้ามไม่ให้คนข้ามถนนเดินข้ามบริเวณที่มีเส้นซิกแซ็กเช่นกัน ซึ่งต่อมาได้มีการนำเส้นซิกแซ็กนี้ไปใช้ในประเทศเครือจักรภพอังกฤษหลายประเทศ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น เพราะเส้นซิกแซ็กจะทำให้เรารู้สึกว่าช่องจราจรแคบลงต้องชะลอความเร็ว เมื่อทราบความหมายและวัตถุประ สงค์กันแล้ว ต่อไปหากขับรถแล้วเจอเส้นดังกล่าวผู้ใช้รถก็ควรปฏิบัติตาม ถึงแม้ว่าทางข้ามจุดนั้นจะไม่มีคนข้ามก็ตามเพื่อความปลอดภัยของคนขับและคนเดินเท้าเอง.
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์