วันนี้ (16ม.ค.) ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในงานครูดีศรีแผ่นดิน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง คุรุสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา(IRES) และมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.)10 แห่ง ประกอบด้วย มรภ.มหาสารคาม มรภ.เชียงใหม่ มรภ.เชียงราย มรภ.เลย มรภ.นครราชสีมา มรภ.อุบลราชธานี มรภ.ราชนครินทร์ มรภ.หมู่บ้านจอมบึง มรภ.สุราษฎร์ธานี และ มรภ.ภูเก็ต เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาระบบการผลิตครูโดยใช้โรงเรียนสุขภาวะเป็นฐานซึ่ง พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เพื่อทดลองพัฒนาการผลิตครู ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการได้ครูพันธุ์ใหม่ ที่สอดคล้องกันนโยบายของรัฐบาลและ ศธ. เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตครูในภาพรวมของประเทศ
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า การจัดการศึกษาตามแนวคิดการสร้างโรงเรียนสุขภาวะมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ข้อคือ 1.ผู้เรียนเป็นสุข 2.โรงเรียนเป็นสุข 3.สภาพแวดล้อมเป็นสุข 4.ครอบครัวเป็นสุข และ 5.ชุมชนเป็นสุข โดยต้องมีการปรับสภาพลดปัจจัยเสี่ยง จัดโครงสร้างและระบบต่างๆให้โรงเรียน สภาพแวดล้อมครอบครัว และชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัยส่งเสริมสุขภาวะของผู้เรียน
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ประธาน IRES กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2562 ต่อยอดจากโครงการเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่น่าพอใจ พัฒนาคุณภาพนักเรียนได้แบบองค์รวม ถือเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกฝนประสบการณ์ที่เหมาะสมสำหรับการผลิตและพัฒนาครูให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 หรือ 3 ปีแรก จะกำหนดกรอบแนวทางการผลิตครูโดยใช้โรงเรียนสุขภาวะเป็นฐาน รวมทั้งแนวทางการปรับปรุงเกณฑ์และเงื่อนไขการผลิตครูเพื่อเสนอต่อคุรุสภาประกาศใช้สำหรับหลักสูตรที่เข้าร่วมโครงการ โดยคุรุสภาประกาศหลักเกณฑ์เพื่อยกเว้นเกณฑ์มาตรฐานบางประการรองรับการทดลองนำร่อง ขณะที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 10 แห่งดำเนินการคัดเลือกหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตรที่สมัครใจเข้าร่วม 1 หลักสูตร และจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อติดตามและปรับหลักสูตร ตลอดจนวิจัยเพื่อติดตามผลคุณภาพของนิสิตนักศึกษา และถอดบทเรียนจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรการผลิตครูโดยใช้โรงเรียนสุขภาวะเป็นฐาน เพื่อนำไปพัฒนาการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา กล่าวว่า คุรุสภาสนับสนุนให้มีการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านวิชาชีพครูให้มีศักยภาพ ปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานของคุรุสภา ต้องมีระบบการผลิตครูที่เหมาะสม สถาบันผลิตครูจำเป็นต้องพัฒนาโปรแกรมการฝึกหัดครูที่ลงสู่การฝึกปฏิบัติในห้องเรียนจริง นักศึกษาครูต้องได้เรียนรู้จากปัญหาของผู้เรียนในห้องเรียนที่มีความท้าทาย และได้รับคำแนะนำช่วยเหลือที่ถูกต้องจากครูพี่เลี้ยงที่เชี่ยวชาญในทักษะวิชาชีพครู ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานการประกอบวิชาชีพครูที่ดียิ่งขึ้น หากการดำเนินโครงการนี้ได้ผลดีจะขยายผลการดำเนินงานไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ.
ที่มา เดลินิวส์ วันศุกร์ 16 มกราคม 2558 เวลา