ด้วยระยะเวลากว่า 14 ปีที่ผ่านมาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ได้ผ่านบทบาทในการประเมินผลเพื่อสะท้อนคุณภาพการศึกษา เพื่อให้เห็นภาพรวมคุณภาพการจัดการศึกษาทั้งด้านผู้เรียน ครู และสถานศึกษา ในทุกระดับ โดยตั้งเป้าเพื่อให้มาตรฐานการศึกษาในแต่ละสถานศึกษาทั่วประเทศไทยมีมาตรฐานดีเท่าเทียมกันตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.2542 เพื่อให้สถานศึกษาสามารถ นำผลการประเมินไปวางแผนพัฒนา สถานศึกษา ได้มีการดำเนินงานในหลากหลาย รูปแบบเพื่อรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา อาทิ การผลิตและพัฒนาบุคลากรผู้ประเมินภายนอกทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา จำนวนรวมกว่า 3,000 คน การจัดทำคู่มือการประเมินภายนอก การสร้างองค์ความรู้เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ผลการประเมินทั้งสามรอบ ตั้งแต่ปี 2544-2557 การศึกษาขั้นพื้นฐานมีจำนวนโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมิน ทั้งสามรอบ 1,755 แห่ง โดยหนึ่งในสาเหตุมาจากการโยกย้ายของผู้บริหาร หรือครู ซึ่งได้มีการเสนอแนะสถานศึกษาต้องสร้างคุณภาพในเชิงระบบ ทั้งนี้สำหรับ ปี 2558 ระบบการศึกษาไทยต้องสร้างค่านิยมการประเมินฯ รอบด้าน โดยในการประเมินรอบสี่ ที่จะเริ่มในปี 2559-2563 คาดหวังให้สถานศึกษาได้รับรองมาตรฐานเพิ่ม มากขึ้น เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษา ที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรอง มาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า สมศ. มีบทบาทหลักในการสะท้อนคุณภาพการศึกษา ให้เห็นภาพรวมคุณภาพการจัด การศึกษาทั้ง 4 มาตรฐานตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ผลการจัดการศึกษา การจัดการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การบริหารจัดการ และการประกันคุณภาพภายในเพื่อให้สถานศึกษาได้นำผลการประเมินและข้อเสนอแนะไปดำเนินการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นพร้อมทั้งให้ข้อเสนอเชิงนโยบายการศึกษาต่อรัฐบาลเพื่อนำไป กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา โดยในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ตั้งโจทย์ของการพัฒนาตัวบ่งชี้ให้สอดคล้อง กับอนาคตที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนและคุณลักษณะในด้านต่างๆ ของศตวรรษที่ 21 โดยกำหนดกรอบการประเมินให้ครอบคลุม 7 ด้าน คือ (1) ด้านคุณภาพศิษย์ (2) ด้านคุณภาพครู/อาจารย์ (2) ด้านการบริหารและ ธรรมาภิบาลของสถานศึกษา (4) ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน สังคม (5) ด้านการ ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม (6) ด้าน อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และ (7) ด้านมาตรการส่งเสริม พร้อมกันนี้ จะจัดกิจกรรม ส่งเสริมสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ ให้เข้าใจ การทำงานที่มีระบบประกันคุณภาพอย่างเป็นระบบ มีทัศนคติที่ดีต่อการประเมิน และกระตุ้นให้มีการนำผลการประเมินสู่ การพัฒนา โดยคาดหวังว่าในรอบสี่สถานศึกษา จะเกิดการตื่นตัวในการทำงานอย่างมีวัฒนธรรมคุณภาพ มีจำนวนสถานศึกษาที่ระดับคุณภาพที่ดี-ดีมากเพิ่มมากขึ้น เพื่อสะท้อนศักยภาพการศึกษาของไทยในระดับสากล และเป็นหลักประกันกับเด็กไทย ทุกคนจะได้รับการศึกษาในสถานศึกษาที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
ผลจากการวิเคราะห์การประเมิน คุณภาพทั้งสามรอบ พบว่าจำนวนสถานศึกษา ขั้นพื้นฐานที่มีระดับดี-ดีมาก คงที่ทั้งสามรอบ มีจำนวน 4,420 แห่ง จากทั้งหมด 31,375 แห่ง สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาที่มีระดับดี-ดีมาก คงที่ทั้งสามรอบ 254 แห่ง จากทั้งหมด 749 แห่ง และระดับอุดมศึกษาที่มีระดับดี-ดีมาก คงที่ทั้งสามรอบ 153 แห่ง จากทั้งหมด 260 แห่ง
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ได้ให้ข้อมูลต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ผลการประเมินทั้งสามรอบ พบว่า ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบผลการประเมินแต่ละรอบของสถานศึกษาทุกแห่ง คือ กลุ่มโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินทั้ง 3 รอบ มีจำนวน 1,755 แห่ง และกลุ่ม ที่ผ่านการประเมินฯ รอบ 2 แต่รอบสาม ไม่ผ่านการประเมิน มีจำนวนถึง 9,418 แห่ง ซึ่งผลเหล่านี้ทำให้เห็นภาพรวมทั้งประเทศ ได้ชัดเจนว่า ทั้งสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้นสังกัด จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญและใกล้ชิดอย่างมาก ค้นหาสาเหตุและวางแนวทางแก้ไขเร่งด่วนที่สุด จากการวิเคราะห์หนึ่งในสาเหตุอาจมาจากการโยกย้ายของผู้บริหาร หรือครู ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าคุณภาพของสถานศึกษาผูกติดกับตัวบุคคล ไม่ใช่ระบบ เพราะสถานศึกษาควรจะต้องสร้างคุณภาพในเชิงระบบให้เกิดขึ้น แม้จะเปลี่ยน ตัวบุคคล คุณภาพไม่ควรจะต่ำลง นอกจากนี้ ขณะนี้ สมศ. กำลังวิเคราะห์ผลในเชิงพื้นที่ (Area based) ให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นที่แต่ละจังหวัด ให้เห็นคุณภาพระดับจังหวัดได้ชัดเจนขึ้น เพื่อเสนอภาครัฐ ได้ส่งต่อนโยบายเพื่อการพัฒนาในระดับพื้นที่ต่อไป
"ตลอดระยะเวลา 14 ปีของการจัดตั้ง สมศ. สถานศึกษาเกิดการรับรู้ ผู้บริหาร ครู เริ่มตื่นตัว มีความเข้าใจการประเมินที่ดีขึ้น ได้สะท้อนผลด้าน จุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนา เสนอแนะทิศทาง สู่เป้าหมายการจัดการศึกษา เพื่อสร้าง จุดเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาให้กับสถานศึกษา โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างคน คุณภาพเพื่อที่จะเป็นแรงงานที่มีศักยภาพ ให้การสร้างการแข่งขันให้กับประเทศไทย" ผอ.สมศ.สรุป
สำหรับทางด้าน ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้หยิบยกเอา การประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศ ฟินแลนด์ ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีที่สุดขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ว่า ฟินแลนด์ใช้ระบบการประเมินในลักษณะ ELE (Enhancement-Led Evaluation) คือ การประเมินเพื่อพัฒนา เพื่อให้แต่ละโรงเรียนหาจุดแข็งและแนวทางการปฏิบัติ ที่ดีควบคู่ไปกับการตั้งเป้าหมายการพัฒนา ในอนาคต การประเมินจะต้องมีอยู่ ในขั้นตอนปฏิบัติทุกขั้นตอนเพื่อตรวจสอบ ประสิทธิภาพ ทั้งในการประเมินตนเองและ การประเมินแบบรวบยอดโดยผู้มีประสบการณ์ ด้านคุณภาพการศึกษา ข้อเท็จจริงที่ได้จาก การประเมินจะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติ ซึ่งมีแนวทางในการประเมินคล้ายคลึงกับ ระบบการประเมินในประเทศไทย ในอนาคต อันใกล้ถ้าสถานศึกษาต่างๆ มีความเข้าใจ ในประโยชน์ของการประเมินเพื่อการพัฒนา อย่างแท้จริง จะทำให้ระบบศึกษา ของประเทศไทย มีความเข้มแข็งและสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพแข่งขันกับประชาคมโลกได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า