การแก้ไขปัญหาการอ่าน – เขียน ภาษาไทย ด้วยวิจัยในชั้นเรียน
ยุพิน อินทะยะ
ความนำ
การวิจัยเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นได้ดี วิธีหนึ่ง ทุกงานทุกสาขาอาชีพ สามารถนำมาใช้ในการหาองค์ความรู้หรือข้อค้นพบในการแก้ปัญหา หรือพัฒนางานได้อย่างเป็นระบบ จึงอาจกล่าวได้ว่า “การวิจัยช่วยให้การพัฒนางานเป็นระบบและเป็นไปอย่างน่าเชื่อถือ” สะท้อนถึงความชัดเจน รอบคอบ และตรวจสอบได้
งานการจัดการเรียนการสอนของครู ถือว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ต้องการความเชื่อถือได้ใน ผลงานการสอนที่เกิดขึ้น หากครูผู้สอนได้นำการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน หรือ แก้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียน จะสามารถพัฒนานักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการประกัน คุณภาพการศึกษาได้อย่างดียิ่ง ทั้งนี้จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งบิดามารดา ผู้ปกครองของนักเรียนจะ มีความมั่นใจในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี
“การวิจัยแบบง่าย” จึงเป็นแนวทางหนึ่งของการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน โดยมีขอบเขตของเรื่องที่จะดำเนินการวิจัยที่ไม่ซับซ้อน ไม่ใหญ่มาก แล้วมีการสรุปผลการวิจัยที่สมบูรณ์ครอบคลุมประเด็นสำคัญ โดยมีจำนวนหน้าไม่มากนัก อาจเป็นหนึ่งหน้า หรือมากกว่าหนึ่งหน้า ก็ได้ และปัจจุบันจึงเรียกงานวิจัยในชั้นเรียนลักษณะนี้ว่า “วิจัยแผ่นเดียว” หรือ “วิจัยหน้าเดียว”
การแก้ไขปัญหาการอ่าน – เขียน ภาษาไทย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ปัญหาการอ่านไม่ ออก – เขียนไม่ได้ อ่านไม่คล่อง – เขียนไม่คล่อง ในขณะนี้เป็นปัญหาเร่งด่วน ที่ครูผู้สอนทุกคน ไม่เฉพาะแต่ครูภาษาไทยเท่านั้น ต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขเพื่อให้เยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติ มีการพัฒนาหรือได้รับการแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุที่ว่า หากเยาวชนของเราอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ การเรียนรู้สรรพวิชาต่างๆ ก็ย่อมจะมืดมน เพราะทักษะการอ่าน – เขียน เป็นทักษะพื้นฐานจำเป็น ในการรับสาร – ส่งสาร นอกเหนือจากทักษะฟัง – ดู – พูด ซึ่งผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการนำกระบวนการวิจัยที่เป็นการวิจัยแบบง่าย หรือวิจัยแผ่นเดียวมาใช้ในการแก้ปัญหา การอ่าน – เขียนภาษาไทย จึงเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นสำหรับครูและต้องเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และส่งผลต่อคุณภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง เพราะภาษาไทยเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้เรียนจะใช้ในการแสวงหาความรู้ในโลกกว้างได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การกำหนดขั้นตอนในการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการอ่าน – เขียนภาษาไทย
การกำหนดขั้นตอนการวิจัยแบบง่ายที่เสนอนี้ เป็นขั้นตอนหลักซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย ทั่วไป ผู้สอนจะกำหนดให้ละเอียดกว่านี้ก็ได้ ในที่นี้ขอเสนอไว้ 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. การกำหนดปัญหา หรือเป้าหมายการวิจัย
2. การกำหนดวิธีการวิจัย หรือวิธีหาคำตอบ หรือวิธีการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน
3. การรวบรวมข้อมูลตามวิธีการที่กำหนด
4. การวิเคราะห์ประมวลผล ตีความ โดยนำข้อมูลที่รวบรวมมาพิจารณา
5. การสรุปและเขียนรายงานการวิจัยแบบง่าย (วิจัยแผ่นเดียว)
กรณีศึกษาการแก้ปัญหาการอ่าน – เขียน ภาษาไทย
กรณีศึกษาที่เสนอเป็นตัวอย่างนี้ ครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของผู้เรียน
ตัวอย่างกรณีครูใจดี รักสอน
ชื่อเรื่อง การพัฒนาความสามารถการอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว นักเรียนชั้นประถม
ศึกษาปีที่ 6 โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ
ชื่อผู้วิจัย นางสาวใจดี รักสอน
สภาพปัญหา
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 จำนวน 20 คน ส่วนใหญ่อ่านและเขียนคำที่ ควบกล้ำ ร ล ว ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะ เมื่อตรวจสมุดงานในวิชาต่างๆ จากการตรวจงานการเขียนเรียงความ และสอบถามจากครูผู้สอนท่านอื่น ต่างก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น ผู้สอนได้ใช้แบบประเมินการอ่าน – เขียน ภาษาไทย ตรวจสอบพบว่าคำที่นักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นคำควบกล้ำ ร ล ว ซึ่งเป็นสาเหตุให้นักเรียนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก และขาดความมั่นใจ เวลาให้นักเรียนสรุปหรือรายงานหน้าชั้นเรียน จะรู้สึกว่าเป็นตัวตลกให้เพื่อนหัวเราะเวลาพูดผิดหรือออกเสียงผิด เวลาเขียนก็เกิดความลังเลไม่มั่นใจ มีลักษณะการขีดฆ่าและลบบ่อย ดังนั้นหากนักเรียนได้รับการแก้ไขโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน – เขียน คำภาษาไทย ที่เป็น คำควบกล้ำ ร ล ว จะช่วยพัฒนาความสามารถการอ่าน – เขียน คำควบคล้ำ ร ล ว ของนักเรียนได้ดีขึ้น
เป้าหมายการวิจัย
เพื่อฝึกและพัฒนาความสามารถการอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 จำนวน 20 คน
วิธีการวิจัย
1. สร้างแบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน – เขียน คำภาษาไทยที่เป็นคำควบกล้ำ ร ล ว โดยใช้คำที่นักเรียน อ่าน – เขียน ไม่ถูกต้อง ปรากฏในแบบฝึกให้ครบถ้วน จำนวน 5 ชุด รวม 20 แบบฝึกดังนี้
1.1 แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว โดยใช้คำประพันธ์ 5 แบบฝึก
1.2 แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว โดยใช้ข้อความ / นิทาน 3 แบบฝึก
1.3 แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว โดยใช้ปริศนาคำทาย 3 แบบฝึก
1.4 แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว โดยใช้เกมปริศนาอักษรไขว้ 5 แบบฝึก
1.5 แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว โดยใช้บทเพลง 4 แบบฝึก
2. สร้างแบบประเมินการอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว ก่อน และหลังการใช้แบบ ฝึกเสริมทักษะ จำวน 40 คำ
3. ประเมินการอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว ก่อนใช้แบบฝึกเสริมทักษะ
4. เขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่าน – เขียนคำ ควบกล้ำ ร ล ว ควบคู่กับแบบฝึก
5. ดำเนินการพัฒนาการอ่าน – เขียนคำควบกล้ำ ร ล ว โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ ชุดที่ 1 – 5 โดยใช้คาบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นเวลา 20 ชั่วโมง (สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง)
6. ขณะฝึกการอ่าน – เขียนคำควบกล้ำ ร ล ว บันทึกผลการอ่าน – เขียน นักเรียนเป็นรายบุคคล
7. สรุปผลการอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว ในแต่ละแบบฝึกเสริมทักษะ
8. ประเมินการอ่าน – เขียนคำควบกล้ำ ร ล ว หลังใช้แบบฝึกเสริมทักษะ
9. สรุปผลและเปรียบเทียบความก้าวหน้าในการพัฒนาความสามารถ การอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว ก่อน – หลัง การใช้แบบฝึกเสริมทักษะเป็นรายบุคคล และรายกลุ่ม (ทั้งชั้น)
ผลการวิจัย
1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 ทุกคน มีความสามารถในการอ่าน – เขียน คำ ควบกล้ำ ร ล ว สูงขึ้น โดยมีนักเรียนจำนวน 5 คน ได้พัฒนาความสามารถจากระดับปรับปรุง เป็นระดับพอใช้ นักเรียนจำนวน 12 คน ได้พัฒนาความสามารถจากระดับพอใช้เป็นระดับดี นักเรียนจำนวน 3 คน ได้พัฒนาความสามารถจากระดับปรับปรุง เป็น ระดับดี
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 โดยภาพรวมมีความสามารถในการอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว อยู่ในระดับพอใช้ มีพฤติกรรมการแสดงออกดีขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงออกหน้าชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น ใช้ภาษากลางในการสื่อสารมากขึ้นกว่าเดิม
หมายเหตุ ในกรณีที่ผู้สอนต้องการพัฒนานวัตกรรม แบบฝึกทักษะการอ่าน – เขียนคำภาษาไทยที่เป็นคำควบกล้ำ ร ล ว หรืออื่นๆ ในลักษณะที่ใช้ในวงกว้าง และพัฒนาเป็นผลงานวิชาการ ควรเพิ่มขั้นตอนการหาประสิทธิภาพของแบบฝึกโดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน E1 / E2 = 80/80 ก่อนนำไปใช้จริง
ตัวอย่างกรณีครูบุษยา
ชื่อเรื่อง การออกเสียงได้ของ ด.ช.จักรี
ชื่อผู้วิจัย นางสาวบุษยา ใจดี
สภาพปัญหา
เมื่อครูบุษยาเข้ามาสอนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ในสัปดาห์ที่ 2 ครูบุษยาให้นักเรียนทุกคนดูภาพสวนสนุกและอ่านคำบรรยายภาพ แล้วให้นักเรียนเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับภาพที่เห็นส่งครู ซึ่งครูได้สังเกตพบว่า ด.ช.จักรี มีอาการกระวนกระวาย ไม่สามารถเขียนได้ จึงได้สอบถามก็พบว่า ด.ช.จักรีอ่านหนังสือไม่ออก และเขียนไม่ได้นั่นเอง
ปัญหาการวิจัย
ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ ด.ช.จักรี อ่านหนังสือออกและเขียนได้
เป้าหมายการวิจัย
เพื่อฝึกและพัฒนาให้ ด.ช.จักรี อ่านออกเขียนได้
วิธีการวิจัย
1. สร้างแบบฝึกการสะกดคำ และบัตรคำตัวอักษร สระ เพื่อใช้ประสมเป็นคำ / พยางค์
2. สร้างแบบฝึกการเขียนสะกดคำ และเขียนเป็นประโยค (จากง่ายไปหายาก)
3. กำหนดข้อความ / นิทานที่ใช้ในการฝึกอ่าน 10 เรื่อง
4. นัดหมายให้ ด.ช.จักรี มาเรียนกับครูทุกวันๆ ละ 1 ชั่วโมง หลังเลิกเรียนหรือในเวลาว่าง
5. เริ่มฝึกจากการสะกดคำง่ายๆ วันละ 5 – 10 คำ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และฝึกสะกดคำพร้อมกับเขียนในสัปดาห์ที่ 2 – 3 ในสัปดาห์ที่ 4 – 5 จึงได้ฝึกแต่งประโยคพร้อมกับการอ่านและเขียน ในสัปดาห์ที่ 6 – 15 จึงได้ให้ฝึกอ่านจากนิทานต่างๆ และเขียนเรื่องจากภาพในนิทาน รวมเวลาฝึกอ่านและเขียน 4 เดือน
6. บันทึกผลการสะกดคำอ่าน การเขียนเป็นคำ และการแต่งเป็นประโยคทุกวัน เพื่อดูพัฒนาการความก้าวหน้าของ ด.ช.จักรี โดยบันทึกคะแนนลงในแบบบันทึกคะแนนการอ่าน เขียนคำ และเขียนเป็นประโยค และการเรียนเรื่องจากภาพ
7. บันทึกพฤติกรรมขณะฝึกอ่าน เขียนลงในแบบสังเกตพฤติกรรม
8. สรุปผลการอ่าน การเขียนของ ด.ช.จักรี
ผลการวิจัย
1. การฝึกอ่านของ ด.ช.จักรี พบว่า
สัปดาห์ที่ 1 อ่านได้โดยเฉลี่ยวันละ 3 คำ จาก 10 คำ
สัปดาห์ที่ 2 – 3 ประสมคำอ่านได้ โดยเฉลี่ยวันละ 5 – 10 คำ จาก 10 คำ
สัปดาห์ที่ 4 – 5 ฝึกอ่านเป็นประโยคได้ โดยเฉลี่ยวันละ 5 – 10 ประโยค
สัปดาห์ที่ 6 – 16 ฝึกอ่านนิทานสัปดาห์ละ 1 เรื่อง โดยเฉลี่ยพบว่าอ่านได้ประมาณมากกว่า 50 %
2. การฝึกเขียน
สัปดาห์ที่ 1 เขียนได้เฉพาะตัวพยัญชนะและคำที่ไม่มีตัวสะกดโดยเฉลี่ยวันละ 3 คำ
สัปดาห์ที่ 2 – 3 เขียนคำที่มีตัวสะกดง่ายๆ ได้ โดยเฉลี่ยวันละ 5 คำ
สัปดาห์ที่ 4 – 5 เขียนคำที่มีตัวสะกดง่ายๆ ได้ โดยเฉลี่ยวันละ 10 คำ
สัปดาห์ที่ 6 – 10 เขียนเป็นคำและแต่งเป็นประโยคได้ โดยเฉลี่ยวันละ 3 – 5 ประโยค
สัปดาห์ที่ 11 – 16 เขียนเป็นคำ แต่งประโยค และเขียนเล่าเรื่องสั้นๆ ได้
3. ด.ช.จักรี มีพฤติกรรมการอ่าน – เขียนดีขึ้น กล้าซักถามครู อาการกระวนกระวายลดน้อยลงตามช่วงเวลาที่ได้ฝึกอ่าน – เขียน และมีความสุขมากเมื่อได้อ่านนิทาน
4. ผลการฝึก ด.ช.จักรี สามารถอ่านหนังสือได้ และเขียนได้ทั้งเป็นคำและประโยครวมทั้งการเขียนเล่าเรื่องจากภาพได้
กิจกรรมปฏิบัติ
ลองคิด
|
ลองทำ
|
แลกเปลี่ยน
|
เรียนรู้
|
ร่วมคิด – ทำ - นำไปใช้
|
1. วิเคราะห์ประเด็นปัญหา
ครูอรนุช สุดยอด สอนนักเรียนชั้น ป.6 จำนวน 29 คน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวเขา เผ่ากะเหรี่ยง จากการประเมินผลการอ่าน – เขียนภาษาไทย จำนวน 40 คำ ของเขตพื้นที่การศึกษา พบว่า มีนักเรียนจำนวน 3 คน อ่านไม่ได้ – เขียนไม่ได้เลย นักเรียน 10 คน อยู่ในระดับปรับปรุง (อ่าน – เขียน ได้ 1 – 23 คำ) นักเรียน 11 คน อยู่ในระดับพอใช้ (อ่าน – เขียน ได้ 24 – 31 คำ) นักเรียน 5 คน อยู่ในระดับดี (อ่าน – เขียน ได้ 32 คำ ขึ้นไป)
หากท่านจะช่วยครูอรนุช สุดยอด ดำเนินการแก้ไขปัญหานักเรียน ชั้น ป.6 ท่านควรเสนอแนะให้เขาดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไรบ้าง
2. พัฒนาทักษะ
สร้างแบบฝึกเสริมทักษะภาษาไทยเพื่อแก้ไขปัญหาการอ่าน – เขียนภาษาไทย ในเรื่อง ต่อไปนี้เพียง 1 ปัญหาโดยเลือกใช้นวัตกรรม - เทคนิควิธีการตามความเหมาะสม
2.1 การอ่าน – เขียน คำควบกล้ำ ร ล ว
2.2 การอ่าน – เขียน อักษรควบ – อักษรนำ
2.3 การอ่าน – เขียนคำที่ใช้มาตราตัวสะกด ไม่ตรงตามมาตรา
2.4 การอ่าน – เขียนคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ
2.5 การอ่าน – เขียนคำที่ใช้ ร ล ว
2.6 การอ่าน – เขียนคำที่ใช้ตัวการันต์
2.7 การอ่าน – เขียนคำที่ประวิสรรชนีย์
2.8 การอ่าน – เขียนคำที่ใช้พยัญชนะต้น ฉ ช ส ซ ฝ ฟ
3. มานะพากเพียรฝึกเขียนรายงาน
· ฝึกเขียนรายงานวิจัยแบบง่ายเพื่อแก้ปัญหาการอ่าน – เขียนภาษาไทย สำหรับนักเรียน ที่ท่านสอน 1 เรื่อง ตามแบบฟอร์มโดยกำหนดหัวข้อหรือชื่อเรื่องวิจัย สภาพปัญหา เป้าหมายการวิจัย วิธีการวิจัย ผลการวิจัย ทั้งนี้ให้ใช้นวัตกรรมตามที่ท่านได้จัดทำใน ข้อ 2
4. วิจารณ์วิจัยให้คุณภาพผลงาน
· นำเสนอผลการฝึกเขียนรายงานต่อที่ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเติมเต็มซึ่งกันและกัน
· ให้ระดับคุณภาพผลงานการฝึกเขียนรายงานโดยใช้เกณฑ์การประเมิน และกำหนดระดับคุณภาพผลงาน ดังนี้
- เกณฑ์การประเมิน
1. การเขียนเป็นลำดับขั้นตอน
2. การกำหนดชื่อเรื่อง สภาพปัญหา เป้าหมายการวิจัย วิธีการวิจัย และผลการวิจัย มีความสอดคล้องกัน
3. มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำไปใช้จริง
- ระดับคุณภาพผลงานมีดังนี้
ระดับดี หมายถึง ผลงานเป็นไปตามเกณฑ์การประเมิน 3 ข้อ
ระดับพอใช้ หมายถึง ผลงานเป็นไปตามเกณฑ์การประเมิน 2 ข้อ
ระดับปรับปรุง หมายถึง ผลงานเป็นไปตามเกณฑ์การประเมิน 1 ข้อ
เอกสารอ้างอิง
ประสงค์ รายณสุข. การศึกษาผลการทดลองใช้แบบฝึกเสริมทักษะการพูดภาษาไทยแก่ชาวเขา. รายงานวิจัยภาควิชาภาษาไทย และภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ, ประสานมิตร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เพียรเจริญ, 2532.
_________________. เสียงและการออกเสียงการพัฒนาเพื่อประสิทธิภาพในการพูด.
ยุพิน อินทะยะ. การศึกษาสภาพปัญหาการอ่านออกเสียงภาษาไทยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและแนวทางแก้ไขปัญหาของครูผู้สอน กรณีศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 8. เชียงใหม่ : หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 8, 2539.
สำนักนิเทศและพัฒนามาตรฐานการศึกษา. การทำวิจัยแบบง่าย : บันไดสู่ครูนักวิจัย (วิจัยแผ่นเดียว). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุ