ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทวิตเตอร์ @SpringNews_TV
รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกาศใช้แล้ว ลองมาเปรียบเทียบกับ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ 2549 ในยุค คมช. มีความเหมือนความต่างกันตรงไหน
ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้ถึง 3 ฉบับ โดย 2 ใน 3 ฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งร่างขึ้นหลังจากเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และ 2557 ภายในเวลาเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีการนำสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวทั้ง 2 ฉบับมาเปรียบเทียบกันถึงความเหมือนและความต่าง ซึ่งคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานรักษาความสงบ สำนักเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รวบรวมไว้ และกระปุกดอทคอม ขอสรุปประเด็นสำคัญมาบอกให้ได้ทราบกัน
จำนวนมาตราของรัฐธรรมนูญ
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 มีทั้งหมด 39 มาตรา
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 มีทั้งหมด 48 มาตรา
จำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 250 คน
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 220 คน
คุณสมบัติสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 ระบุให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และไม่ได้กำหนดลักษณะต้องห้าม ดังนั้น ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 ระบุให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี และห้ามผู้ที่ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติในขณะเดียวกันไม่ได้
คณะรัฐมนตรี
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 ระบุให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และคณะรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของประธาน คมช. และทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และคณะรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติของ สนช. และทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่
คุณสมบัตินายกรัฐมนตรี
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 ไม่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม แต่นายกรัฐมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิก สนช., สสร. หรือกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกำหนด เช่น ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในเวลา 3 ปี ก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง และต้องไม่เป็นสมาชิก สนช., สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
บทบาทหน้าที่ของคณะรักษาความสงบชาติต่อคณะรัฐมนตรี
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 ไม่ได้ให้อำนาจคณะมนตรีแห่งความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในการดำเนินการ สั่งการ ยับยั้งการกระทำใด ๆ ของคณะรัฐมนตรี
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจในการแจ้งให้ ครม. ทราบเพื่อดำเนินการใด ๆ ที่เห็นสมควรได้ ซึ่งในกรณีจำเป็น เช่น เพื่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง คสช. มีอำนาจในการสั่งการ ระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าการนั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด
สภาปฏิรูปแห่งชาติ
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 ไม่ได้กำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยมีสมาชิก 100 คน ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด และมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในเวลา 2 ปีก่อนวันได้รับการคัดเลือก และต้องไม่เป็นสมาชิก สนช. ในขณะเดียวกัน
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 กำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 250 คน ซึ่ง คสช. เป็นผู้คัดเลือกจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ ในจำนวนนี้ให้คัดเลือกจากบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอ จังหวัดละ 1 คน ซึ่งสมาชิกต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด
หน้าที่ สสร. - สภาปฏิรูปแห่งชาติ
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 กำหนดให้ สสร. มีหน้าที่เพียงให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีหน้าที่จัดทำแนวทางและข้อเสนอการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อเสนอ สนช. ครม. คสช. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอเป็นร่างกฎหมายได้ พร้อมทั้งสามารถพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 ระบุให้ สสร. เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จำนวน 35 คน โดยไม่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม แต่ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือดำรงตำแหน่ง ส.ว. ภายใน 2 ปี นับจากวันที่พ้นตำแหน่ง นอกจากนี้ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 ประกอบด้วยกรรมาธิการ 36 คน โดยต้องไม่เป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายใน 3 ปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ภายใน 2 วัน นับแต่วันที่พ้นจากการเป็นกรรมาธิการ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 120 วัน หากไม่เสร็จต้องพ้นจากตำแหน่งไป และกลับมาเป็นอีกไม่ได้
กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 ระบุให้ สสร. ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่เปิดประชุมครั้งแรก เมื่อจัดทำแล้วให้ออกเสียงประชามติ หากประชามติไม่ผ่าน หรือจัดทำร่างไม่ทันตามกำหนด สสร. นั้นต้องสิ้นสุดลงและให้ คมช. ประชุมร่วมกับ ครม. เพื่อพิจารณานำรัฐธรรมนูญที่เคยประกาศใช้ฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุง และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 ระบุให้สภาปฏิรูปฯ ส่งข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประชุมสภาปฏิรูปฯ ครั้งแรก ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องจัดทำร่างให้เสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูป จากนั้นส่งร่างให้สภาปฏิรูปฯ ครม. และ คสช. เพื่อให้สภาปฏิรูปฯ พิจารณา 10 วัน และยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายใน 3- วัน เช่นเดียวกับ ครม. หรือ คสช. ที่เสนอความเห็นเพิ่มเติมได้ภายใน 30 วัน
คณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีเวลาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมภายใน 60 วัน ก่อนส่งกลับไปให้สภาปฏิรูปฯ เห็นชอบภายใน 15 วัน หากเห็นชอบให้ประธานสภาปฏิรูปฯ นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป รวมระยะเวลาประมาณ 10 เดือน นับแต่วันที่สภาปฏิรูปฯ เริ่มประชุมครั้งแรก แต่หากไม่เห็นชอบ หรือพิจารณาไม่แล้วเสร็จตามกำหนด หรือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย ให้ร่างนั้นตกไป ต้องแต่งตั้งสภาปฏิรูปฯ และคณะกรรมาธิการฯ ชุดใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งคนเดิมจะกลับมาเป็นอีกไม่ได้
การนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำรัฐประหาร
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2549 กำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินในวันที่ 19 กันยายน 2549 พ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง
♦ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 ระบุไว้เช่นเดียวกันในมาตราที่ 48 ของรัฐธรรมนูญ ให้นิรโทษกรรมการกระทำทั้งหลายของหัวหน้า และ คสช. รวมทั้งบุคคลต่าง ๆ ที่ได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานรักษาความสงบ สำนักเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
ขอบคุณที่มาจาก กระปุก.คอม