ชื่อเรื่อง
การศึกษาการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนลูกเสือ - เนตรนารี โรงเรียนตะดอบวิทยา โครงงานเยาวชนลูกเสือไทยสานใจให้ครอบครัวอยู่พอเพียง ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ "เยาวชนไทยทำดีถวายในหลวง" ประจำปีการศึกษา 2550
ชื่อผู้ศึกษา
บทคัดย่อ
นายประจวบ โกลละสุต รองผู้อำนวยการโรงเรียนตะดอบวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 1
การศึกษาในครั้งนี้มีเพื่อศึกษาการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในนักเรียนลูกเสือ – เนตรนารี ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนตะดอบวิทยา โครงงานเยาวชนลูกเสือไทยสานใจให้ครอบครัวอยู่พอเพียง ตามโครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ "เยาวชนทำไทยทำดีถวายในหลวง" ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 ประจำปีการศึกษา 2550 ในการส่งเสริมการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการใช้บัญชีครัวเรือนเป็นกิจกรรมในการดำเนินโครงงาน ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา การศึกษาครั้งนี้ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบวิธีการสุ่มตัวอย่างชนิดที่ทราบค่าความน่าจะเป็น(probability sampling) ใช้การเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทุกคน คือเป็นนักเรียนลูกเสือ – เนตรนารี ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนตะดอบวิทยา จำนวน 40 คน ที่อยู่ในครอบครัวอาสา ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงงานเยาวชนลูกเสือไทยสานใจให้ครอบครัวอยู่พอเพียง การศึกษาครั้งนี้จะศึกษาถึงพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรม 4 ด้าน ได้แก่ ความขยัน การประหยัด ความซื่อสัตย์ และการมีวินัย หลังจากที่ครอบครัวและตนเองเข้าร่วมโครงงานฯ ว่าพฤติกรรมทั้ง 4 ด้านมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา ตัวแปรต้นคือ การทำบัญชีครัวเรือน ความรู้เกี่ยวกับทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงและพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรมของผู้ปกครอง(พ่อแม่) ตัวแปรอิสระ คือ คะแนนพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรม จำแนกวิเคราะห์ แต่ละด้าน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย แบบสอบถาม 1 ชุด จำนวน 45 ข้อ ประกอบด้วย 5 ตอน ได้แก่ 1. ข้อมูลบุคคลทั่วไป 2. ข้อมูลด้านการทำบัญชีครัวเรือน 3. ข้อมูลด้านเศรษฐกิจพอเพียง 4. ข้อมูลด้านพฤติกรรมเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของพ่อแม่และ 5. ข้อมูลด้านพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน ลักษณะของคำถามแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ แบบ Check List และแบบ Rating Scale แบบแผนการศึกษาที่ใช้คือ One - Group Pretest - Posttest Design จะทำการเก็บครั้งที่ 1 ในเดือนกันยายน 2550 และครั้งที่ 2 เดือนมกราคม 2551 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเงินเหลือเก็บของนักเรียนและเงินเหลือเก็บของผู้ปกครอง การเปรียบเทียบความแตกต่างค่าคะแนนพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรม 4 ด้านของนักเรียนโดยใช้ สถิติ t – test แบบ pair t – test
ผลการศึกษาพบว่า
1. นักเรียนลูกเสือ - เนตรนารีหลังจากเข้าร่วมโครงการคะแนนพฤติกรรมด้านความขยันเพิ่มสูงขึ้นจากก่อนเข้าร่วมโครงงานฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. นักเรียนลูกเสือ - เนตรนารีหลังจากเข้าร่วมโครงการคะแนนพฤติกรรมด้านการประหยัดเพิ่มสูงขึ้นจากก่อนเข้าร่วมโครงงานฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนลูกเสือ-เนตรนารีหลังจากเข้าร่วมโครงการคะแนนพฤติกรรมด้านความซื่อสัตย์เพิ่มสูงขึ้นจากก่อนเข้าร่วมโครงงานฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4.นักเรียนลูกเสือ-เนตรนารีหลังจากเข้าร่วมโครงการคะแนนพฤติกรรมด้านการมีวินัยเพิ่มสูงขึ้นจากก่อนเข้าร่วมโครงงานฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าโครงงานเยาวชนลูกเสือไทยสานใจให้ครอบครัวอยู่พอเพียงที่มีปัจจัยประกอบทั้ง 3 ปัจจัย คือ การทำบัญชีครัวเรือน หลักทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง พฤติกรรมเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของพ่อแม่ สามารถพัฒนานักเรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรมเพิ่มขึ้นได้