8 เซียน หรือโป้ยเซียน
โป๊ยเซียน คือ เซียนแปดองค์ ตามความเชื่อในลัทธิเต๋าของจีน เป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนนับถือมาช้านาน นับเป็นหนึ่งในบรรดาเซียนนับร้อยๆ องค์ของจีน แต่เทพทั้งแปดนี้ นับว่าเป็นที่รู้จักดี และได้รับการนับถืออย่างกว้างขวางมาก
เซียนแต่ละองค์ในบรรดา 8 องค์นี้ มีประวัติที่มา และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แตกต่างกันไป ในปัจจุบันทั้งชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนยังนิยมนับถือบูชาโป๊ยเซียนอย่างสม่ำเสมอนอกเหนือจาก เทพเจ้าในกลุ่มฮก ลก ซิ่ว
เซียนที่คนจีนรู้จักและเคารพนับถือมากที่สุด มีอยู่ 8 เซียน ด้วยกัน รวมเรียกว่า "โป้ยเซียน" (โป้ย แปลว่า จำนวน 8) เหตุใดจึงหยุดแค่ 8 เซียนเท่านั้น ยังเป็นเรื่องที่สงสัยแคลงใจกันอยู่ สันนิษฐานว่า จำนวน8ตนอาจจะเป็นจำนวนที่เหมาะสม เหมือนอย่าง 8 ทิศ ยันต์ 8 เหลี่ยม หรือบางทีอาจจะเป็นเครื่องเปรียบเทียบมนุษย์เรา คือ มนุษย์เรามี ดรุณวัย,ชรา,ยากจน,มั่งคั่ง,ผู้ดี,ไพร่,เพศชาย,เพศหญิง
การกำหนดกลุ่มของโป้ยเซียน ให้มีชื่อและรูปร่างอย่างที่รู้จักกันอย่างดี ในปัจจุบันนี้ ได้ปรากฏขึ้นในรางวงศ์หยวน (พ.ศ.1803-1911) หรือในยุคของสุโขทัยของเรา แต่ในบางแห่ง (China Recorstructs ฉบับ มกราคม 1983) กล่าวไว้ในเรื่อง How the Immortals Crossed the sea ว่าเรื่องเซียนทั้ง 8 ได้เขียนขึ้นในสมัยราชวงส์หมิง ค.ศ.1368-1644 (พ.ศ.1911-2187)
ตามคติของจีนกล่าวว่า โป้ยเซียนเกิดขึ้นจากลัทธิเต๋าและเซียนส่วนมาก มาจากประวัติศาสตร์จีน บางคนอาจเป็นนักปราชญ์ รัฐบุรุษ แพทย์ นักดนตรี และกวี เรื่องของเซียนเมื่อเทียบกับพวกฤาษีแล้วก็เป็นพวกเดียวกัน อย่างธรรมเนียม พวกเล่นงิ้ว ก่อนที่จะลงมือเล่นเรื่องต่างๆ ก็จะต้องออกชุดโป๊ยเซียนก่อนเป็นการเบิกหน้าโรงละครก่อนทุกครั้ง หนังตะลุงของไทยภาคใต้ก็จะมีฤาษี พวกละคร ลิเก ดนตรีปี่พาทย์ มีครูที่เรียกว่า “พ่อแก่” คือฤาษี จึงต้องมีหัวพ่อแก่ไว้บูชา
ตามประเพณีไหว้พระจันทร์ของจีน ก็จะต้องมีรูปโป๊ยเซียนมาบูชาด้วย ถือว่าเป็นผู้อำนวยโชคลาภให้แกผู้คนที่กราบไหว้ เมื่อโป๊ยเซียนกลายเป็นของมงคล มีผู้นับถือ จึงมีผู้ทำรูปโป๊ยเซียนเขียนลงกระดาษม้า ถ้วย กาน้ำชาและตุ๊กตากระเบื้องเคลือบ ออกมาจำหน่าย กลายเป็นรูปบูชาประจำศาลเจ้าและศาลเจ้าสืบมา
โป๊ยเซียน (Pa Hsien) มีชื่อตามลำดับดังนี้
1. ทิก๋วยลี้ หรือ ลีเทียะก๋วย (Li T’ieh kuai)
2. ฮั่นเจงหลี (Han Chung-Li)
3. ลื่อท่งปิน (Lu Tung Pin)
4. เจียงกั๋วเล้า (Chang Kuo Lao)
5. น่าไชหัว (Lan Ts’ai-ho)
6. ฮ่อเซียนโกว (Ho Hsien-ku)
7. ฮั่นเซียงจื๊อ (Han Hsiang-tzu)
8. เช่าก๊กกู๋ (Ta’ao Kuo Chiu)
เซียนทั้ง 8 นี้ อาจารย์ทองฯ ผู้แปลคัมภีร์โป๊ยเซียน ซึ่งค้นพบที่วัด ฮกเล่งญี่ ได้กล่าวไว้ว่า เซียนทั้ง 8 ได้ประชุมจารึกแต่งคัมภีร์พยากรณ์ดังกล่าวขึ้นไว้ในสมัยพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ แต่จะตกทอดเข้ามาในเมืองไทยอย่างไร ไม่ทราบ อาจารย์ทองได้ขออนุญาตหลวงจีนตั้กฮี้สมภารวัดฮกเล่งญี่ลอกไว้แต่ พ.ศ.2450
คัมภีร์โป๊ยเซียนศาสตร์นั้น พิจารณาดูแล้วก็คล้ายๆ กับตำราพรหมชาติของไทย แต่แทนที่จะใช้ 12 นักษัตร ก็ใช้เซียนเป็นสัญลักษณ์ โดยกำหนดไว้ดังนี้
เซียนองค์ที่ 1 หลีทิก๊วย (ทิก๋วยลี้) เซียนแห่งยาและการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ สัญลักษณ์ ปีชวด
เซียนองค์ที่ 2 ฮั่นเจ็งหลี เซียนแห่งโชคลาภ สัญลักษณ์ ปีฉลู
เซียนองค์ที่ 3 ลื่อทงปิน (ลื่อท่งปิน) เซียนแห่งการรักษาโรค และ ช่างตัดผม สัญลักษณ์ ปีขาล
เซียนองค์ที่ 4 เตียกั๊วเล้า (เจียงกั๋วเล้า) เซียนแห่งความมั่นคงอายุยืนสุขภาพดี สัญลักษณ์ ปีเถาะ
เซียนองค์ที่ 5 น่าไช่ฮั้ว (น่าไชหัว) เซียนแห่งมวลบุปผาชาติความอุดมสมบูรณ์ สัญลักษณ์ ปีมะโรง
เซียนองค์ที่ 6 ฮ่อเซียนโถว (ฮ่อเซียนโกว) เซียนแห่งความดีงาม และความซื่อสัตย์ สัญลักษณ์ ปีมะเส็ง
เซียนองค์ที่ 7 ฮั่นเซียงจือ (ฮั่นเซียงจื๊อ) เซียนพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้และการดนตรี สัญลักษณ์ ปีมะเมีย
เซียนองค์ที่ 8 เช่าก๊กกู๋ เซียนแห่งยศฐาบรรดาศักดิ์ สัญลักษณ์ ปีมะแม
เนื่องจากเซียนมีเพียง 8 เซียน แต่มี 12 ปี จึงต้องเอาบุคคลในเรื่องไซอิ๋วมาเพิ่มอีกดังนี้
9. พระถังซัมจั๋ง สัญลักษณ์ ปีวอก
10. เห้งเจีย สัญลักษณ์ ปีระกา
11. โป้ยก่าย สัญลักษณ์ ปีจอ
12. ซัวเจ๋ง สัญลักษณ์ ปีกุน