ตอนที่ 4
ตอนสุดท้ายแล้วนะคะ ...
5. เครื่องมือที่ใช้ มักประกอบไปด้วย 2 ลักษณะ คือ
1) เครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งอาจเป็นวิธีการสอนสื่อการสอน หรือวิธีการใดๆเพื่อแก้ปัญหาในห้องเรียนของครูผู้สอน
2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือเครื่องมือในการตรวจสอบแก้ปัญหา ซึ่งอาจเป็นแบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบตรวจสอบงาน แบบประเมินใดๆเพื่อตรวจสอบว่าวิธีการแก้ปัญหานั้นๆได้ผลหรือไม่ มากน้อยเพียงใด อย่าลืมว่าต้องให้สอดคล้องกับเรื่องและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ด้วยล่ะ
6. กำหนดประชากร/กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ซึ่งหมายถึงนักเรียนทั้งห้องเรียน หรือกลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษา โดยการระบุระดับชั้น โรงเรียน อำเภอ จังหวัด และจำนวนที่นำมาศึกษา
7. กำหนดสาระการเรียนรู้ จะทำวิจัยในกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด ในสาระที่เท่าไร เนื้อหาที่นำมาวิจัยอยู่ตอนไหนของหลักสูตร เนื้อหาว่าอย่างไร ใส่รายละเอียดเข้าไปด้วย
8. กำหนดระยะเวลาที่ทำวิจัย เป็นการวางแผนดำเนินการว่าทำวิจัยเรื่องนี้ใช้เวลาเท่าไร ทำอะไรบ้าง เมื่อไร
9. กำหนดระเบียบวิธีวิจัย หมายถึง แบบแผนในการวิจัย ซึ่งประกอบด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ที่จำ เป็นในการตอบคำถามของปัญหาการวิจัย เช่น วิจัยเชิงทดลอง วิจัยกึ่งทดลอง (ศึกษาเพิ่มเติมด้วยจะได้เข้าใจ)
10. กำหนดนิยามศัพท์เฉพาะ คือให้ความหมายคำศัพท์ที่ใช้เฉพาะในการวิจัยเรื่องนี้ จะอธิบายตามที่ปรากฏในชื่อเรื่อง ตามที่ปรากฏในวัตถุประสงค์ เช่น การพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรงเรื่องการวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (ดูวัตถุประสงค์จากตอนที่ 3) นิยามศัพท์ที่จะกำหนด ได้แก่ การพัฒนา บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง แผนการจัดการเรียนรู้ ประสิทธิภาพ 80/80 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
11. กำหนดวิธีดำเนินการวิจัย ได้แก่ ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ การเก็บรวบรวมข้อมูล นำข้อมูลที่กล่าวในช่วงแรกมาประกอบด้วย
12. กำหนดสถิติที่ใช้ในการวิจัย ใช้สถิติใดบ้าง สถิติต้องมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ด้วยอาจใช้เพียงสถิติพื้นฐาน (ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) หรืออาจจะมีสถิติที่ใช้ทดสอบสมมุติฐาน (t-test) หรือมากกว่านี้ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์การวิจัย
13. จัดทำเค้าโครงการวิจัย (3 บท) รูปแบบการเขียนเค้าโครงการวิจัย (Thesis Proposal Format) มีได้หลายรูปแบบขึ้น อยู่กับแต่ละหน่วยงานแต่ละสถาบันได้กำหนดรูปแบบ เราเขียนขึ้นมาเพื่อจะให้ผู้รู้ ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบและให้คำแนะนำจะได้สะดวก ในการเขียนจะมีเนื้อหา 3 บท โดยมีหัวข้อสำคัญๆ ดังนี้
บทที่ 1 บทนำ ประกอบด้วยหัวข้อย่อย ดังนี้
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัย
ขอบเขตของการวิจัย
กรอบแนวคิดในการวิจัย
สมมุติฐานการวิจัย (ถ้ามี)
นิยามศัพท์เฉพาะ
บทที่ 2 ทฤษฏีและหลักการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยหัวข้อย่อย ดังนี้
แนวคิด ทฤษฏีและหลักการที่เกี่ยวข้อง
บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย
ประชากร
กลุ่มตัวอย่าง
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
การเก็บรวบรวมข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูล
บรรณานุกรม
ภาคผนวก
การเขียนเค้าโครง 3 บท แสดงว่าเรามีการวางแผนที่ดี ก่อนเริ่มต้นเขียนเราก็ต้องวางแผน วางเค้าโครงเขียน (outline) ก่อน ... เอาไปให้ที่ปรึกษาการทำผลงานดู เขาก็รู้ทันทีว่าเราทำแบบไหน สมบูรณ์เพียงไร จะแก้ไข จะติติง หรือเพิ่มเติมส่วนใด สอดคล้องกันหรือไม่ และที่สำคัญเข้าใจง่ายกว่าที่เราไปพูด ๆ ให้เขาฟังอย่างเดียว
14. สร้างเครื่องมือ ตามที่กำหนดไว้ เช่น แบบสอบถาม แบบทดสอบ สื่อนวัตกรรม ฯลฯ
15. ดำเนินการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง (เก็บข้อมูล) มีวิธีดำเนินการ คือ
- ทดสอบก่อนเรียน
- สอนตามแผน (เก็บคะแนนระหว่างเรียน)
- ทดสอบหลังเรียน (ทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน)
16. รวบรวม เรียบเรียง และวิเคราะห์ข้อมูล
17. สรุปผล (ตามวัตถุประสงค์/ความมุ่งหมาย)
18. อภิปรายผล
19. ข้อเสนอแนะสำหรับการนำไปใช้
20. ข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยครั้งต่อไป
เมื่อได้ 20 ขั้นตอนนี้แล้ว แสดงว่าคุณครูทำวิจัยครบถ้วนสมบูรณ์ตามกระบวนการ ก็นำเอามาเขียนเป็นรายงานการวิจัย ซึ่งมี 5 บท ได้แก่
บทที่ 1 บทนำ /ภูมิหลัง
บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย
บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
บทที่ 5 สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ
รายละเอียดของการเขียนแต่ละบทคุณครูต้องศึกษาอีกครั้งหนึ่งให้ถูกรูปแบบการทำผลงานทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าหน้ากระดาษ ตัวหนังสือที่ใช้ การอ้างอิง บรรณานุกรม ฯลฯ รูปแบบการทำจะใช้ของสถาบันใดก็ใช้ให้ตลอดทั้งเล่ม
หากคุณครูที่จะส่งผลงานทำตามกระบวนการที่กล่าวมา ต้องได้เลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้นแน่นอน ขอเป็นกำลังใจให้เต็มร้อยค่ะ
จิราภรณ์ หอมกลิ่น