ชื่องานวิจัยเรื่อง
ผลการใช้เทคนิคการเรียนการสอนแบบร่วมมือโดยใช้กรณีตัวอย่าง
เพื่อส่งเสริมการอ่านคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔
The Result of Using Co-operative Learning Technique Via Case
Study for the Practice of Critical Reading of Matayom Suksa 4
Students.
ชื่อผู้วิจัย ประพินท์ สังขา
โรงเรียนสันทรายวิทยาคม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต ๒
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ ประเทศใดก็ตามที่ประชากรมีคุณภาพย่อมพัฒนาได้ก้าวไกลกว่า ด้วยเหตุนี้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจึงเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประชากรเป็นอย่างมาก โดยกำหนดเป็นจุดเน้นที่ต้องพัฒนา ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขับร้องแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ เป็นต้นมา (พ.ศ ๒๕๔๐ – ๒๕๔๔ ) และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระบบการจัดการศึกษา ซึ่งออกมาในรูปของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ กล่าวคือ จัดเป็นหลักสูตรแกนกลางที่มีโครงสร้างหลักสูตรยืดหยุ่น กำหนดจุดหมายที่ถือเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ในภาพรวม ๑๒ ปี สาระการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้แต่ละกลุ่ม มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น เป็นช่วงชั้นละ ๓ ปี จัดเฉพาะส่วนที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อโดยสถานศึกษาต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการฝึกทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่องผสมผสานสาระความรู้ต่าง ๆ อย่างมีสัดส่วนสมดุลกัน ปลูกฝังคุณธรรมค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (๒๕๔๔ :๒-๓) บทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน ให้มีทักษะการคิด วิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาและนำไปปฏิบัติได้จริงในโรงเรียนคือ ครูผู้สอน โดยการทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ อบรมสั่งสอน และปลูกฝังทักษะต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นให้แก่ผู้เรียน แต่การสอนของผู้สอนในโรงเรียน ส่วนใหญ่จะสอนโดยใช้ตำราและเน้นท่องจำ ครูภาษาไทยมีวิธีสอนแบบเดิม คือ ยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง มุ่งสอนเนื้อหาโดยใช้วิธีการสอนแบบบรรยาย ไม่เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิด ส่งผลให้ผู้เรียนไม่ได้รับการฝึกฝนกระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ในเนื้อหาซึ่งขัดต่อเป้าหมายของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของเยาวชนไทยในอนาคต
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะใช้เทคนิคการเรียนการสอนแบบร่วมมือ โดยใช้กรณีตัวอย่างเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจในการอ่านและการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนสันทรายวิทยาคม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำผลการศึกษาไปเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนทักษะการคิดวิเคราะห์ในสาระการอ่านให้มีประสิทธิภาพต่อไป
วัตถุประสงค์การวิจัย
๑.เพื่อศึกษาผลการใช้เทคนิคการเรียนการสอนแบบร่วมมือโดยใช้กรณีตัวอย่าง เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในการอ่านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนสันทรายวิทยาคม
๒. เพื่อประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์ ในสาระการอ่าน ของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนสันทรายวิทยาคม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
ขอบเขตการวิจัย
๑. ประชากร เป็นนักเรียนช่วงชั้นที่๔ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๑ โรงเรียนสันทรายวิทยาคม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๑๒๐ คน
๒. กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๑ โรงเรียนสันทรายวิทยาคม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๓๙ คน
๓. ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๑ เวลาในการทดลองใช้เทคนิค การสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง ใช้ทดลองในเวลาเรียน จำนวน ๑๗ ชั่วโมง เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นเนื้อหาในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔
ขอบเขตเนื้อหา
เนื้อหาในการทำวิจัยครั้งนี้ได้แก่ การใช้กรณีตัวอย่าง คือ การศึกษาจากเหตุการณ์ ข่าว บทความ หรือ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม อาจเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องที่ผู้วิจัยแต่งขึ้น
กรอบแนวคิด
๑ . เอกสารเกี่ยวกับเทคนิคการเรียนการสอนแบบร่วมมือ
๒. เอกสารเกี่ยวกับกรณีตัวอย่าง
๓. เอกสารเกี่ยวกับการคิด
๔. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย
๑. แผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ โดยใช้กรณีตัวอย่างจำนวน ๖ แผนการเรียนรู้ รวมทั้งหมด ๑๗ ชั่วโมง
๒.แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้กรณีตัวอย่างของแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้
๓. แบบวัดการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน จำนวน ๕๐ ข้อ
วิธีการดำเนินการวิจัย
๑. จัดทำหน่วยการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านคิดวิเคราะห์โดยใช้กรณีตัวอย่าง จำนวน ๑ หน่วย
การเรียนรู้ รวม ๑๗ ชั่วโมง
๒. จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน ๖ แผน
๓. นำแผนการจัดการเรียนรู้ ให้หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตรวจสอบเนื้อหา
ตามความเหมาะสมของกิจกรรม และเวลาที่ใช้ในการสอน เพื่อให้ข้อเสนอแนะแล้วนำมา
ปรับปรุงแก้ไข
๔. ดำเนินการสอนตามขั้นตอนในแผนการจัดการเรียนรเพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์ โดยใช้
กรณีตัวอย่าง ในแต่ละแผนรวม ๖ แผน
๕. นำคะแนนที่ได้จากการทดสอบวัดการคิดวิเคราะห์ของการเรียนแต่ละแผนไปวิเคราะห์
ตามค่าสถิติที่กำหนดไว้
๖. หลังจากที่ทดลองสอนแต่ละแผนเสร็จแล้ว ทำการวัดการคิดวิเคราะห์และนำผลคะแนน
ที่ได้ไปวิเคราะห์ตามค่าสถิติตามที่กำหนดไว้
ผลงานการวิจัย
๑. ผู้เรียนที่เรียนโดยใช้เทคนิคการเรียนการสอนแบบร่วมมือ โดยใช้กรณีตัวอย่าง
มีทักษะ การคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๒. การประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน เป็นการคิดที่ระดับ
การคิดสังเคราะห์ข้อมูล
สรุปผลการวิจัย
ผลการใช้เทคนิคการเรียนการสอนแบบร่วมมือโดยใช้กรณีตัวอย่าง เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในการอ่านและการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนสันทรายวิทยาคม อำเภอ สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าระดับการคิดวิเคราะห์ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๕ โดยระดับการคิดวิเคราะห์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และมีค่าระดับการคิดวิเคราะห์อยู่ที่ระดับการสังเคราะห์ข้อมูล