สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในการประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อนำ 8 นโยบายการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1
รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้มาพบและรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้บริหาร สพฐ. ซึ่งได้รายงานความคืบหน้าจากการที่ สพฐ. ได้นำนโยบายการศึกษาซึ่งตนได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 นำไปคิดและพัฒนาต่อ เพื่อผลักดันนโยบายสำคัญไปสู่การปฏิบัติ โดยเน้นไปที่การปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงกับการทดสอบประเมินผลของผู้เรียน และการพัฒนาครูโดยมุ่งที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ซึ่งน่ายินดีที่ สพฐ.ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วพอสมควร
ทั้งนี้ ได้ฝากให้ สพฐ.เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้การจัดอันดับการศึกษาจากผลการทดสอบ PISA ของนักเรียนไทยในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ให้เลื่อนอันดับดีขึ้นภายในปี 2558 จากปัจจุบันผลการจัดอันดับการศึกษาของไทยอยู่ที่ 50 จาก 65 ประเทศ จึงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนโดยมุ่งไปที่ผลสัมฤทธิ์ในบางด้าน โดยจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังทั่วประเทศ
นอกจากนั้น ต้องการเน้นในเรื่องการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนที่จะมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ
1) ให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น วิเคราะห์เป็น
2) ให้เด็กสามารถเรียนวิชาต่างๆ ได้ดี เข้าใจได้ดี
3) ให้เด็กเรียนในโลกยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งเด็กสามารถเรียนรู้เองได้มากและสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
ซึ่งทั้งสามข้อนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญในการปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งจะโยงไปถึงการพัฒนาครู เพื่อให้ครูสอนได้ดีขึ้น และในส่วนของการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของครู ก็ต้องโยงไปให้สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนให้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ได้ฝากให้ สพฐ.ช่วยคิดระบบการวัดและประเมินผลเพื่อให้ได้มาตรฐานที่เทียบเคียงกับการวัดผลของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) และต่างประเทศในบางด้าน เพื่อให้การวัดผลเป็นเครื่องมือในการผลักดันจัดการศึกษาในโรงเรียนต่างๆ
ในส่วนที่เกี่ยวกับเขตพื้นที่การศึกษา ขอให้มีการจัดระบบที่จะทำให้เขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ มีความรับผิดชอบต่อการทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนมากขึ้น เท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องมีการบริหารเขตพื้นที่การศึกษา ที่อาจจะต้องดำเนินการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU - Memorandum Of Understanding) ระหว่าง สพฐ. กับเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งคิดระบบการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย
เรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจนอีกเรื่อง คือ การกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาที่จะต้องนำมาวิเคราะห์ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น มิฉะนั้นจะใช้ทรัพยากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงนโยบายแท็บเล็ต ว่าจะให้มีการจัด Workshop เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้จริง ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการใช้แท็บเล็ต และผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยการใช้แท็บเล็ตในช่วงที่ผ่านมา ในเรื่องของผลดี ปัญหาและอุปสรรคในการใช้ โดยเฉพาะเรื่องความเหมาะสมและมาตรฐานของเนื้อหาสาระที่บรรจุลงในแท็บเล็ต และความต้องการให้พัฒนาแท็บเล็ตว่า ควรจะเป็นไปในทิศทางใด โดยการจัด Workshop นี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจและผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนช่วยในการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นหลักที่ รมว.ศธ.ได้หารือกับผู้บริหาร สพฐ. เพื่อต้องการผลักดันให้ทุกองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันนำไปพัฒนาให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายให้สู่การปฏิบัติให้เป็นไปตามเป้าหมาย ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยภายในปี พ.ศ.2558 จะต้องให้ผลการจัดอันดับการศึกษาไทย ผลการทดสอบ PISA ของไทย ให้อยู่ในอันดับที่ดีขึ้น ให้สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสามัญเพิ่มขึ้นเป็น 50 : 50 ให้มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกมากขึ้น และให้มีการกระจายโอกาสและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น โดยเน้นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ จัดและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/jul/222.html