นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน คือ อนุมัติร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ฯ การรับรองวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
►อนุมัติร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ครม.มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1) กำหนดให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น
2) กำหนดวัตถุประสงค์ ภาระหน้าที่ การแบ่งส่วนงาน หลักเกณฑ์ การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกส่วนงาน การรับสถานศึกษาอื่นเข้าสมทบ และอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
3) กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีรายได้ส่วนหนึ่งจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และเงินกองทุนที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นและรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุน รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และให้อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมีผู้อุทิศให้หรือได้จากการซื้อหรือแลกเปลี่ยนไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย
4) กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วยนายกสภามหาวิทยาลัยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งและคณาจารย์ประจำตามที่กำหนด กำหนดคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง และให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
5) กำหนดให้มีสภาวิชาการ สภาคณาจารย์ สภาพนักงานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัย คณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินมหาวิทยาลัย คณะกรรมการอุทธรณ์ ร้องทุกข์และพิทักษ์ระบบคุณธรรมประจำมหาวิทยาลัย และคณะกรรมการอื่นที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง โดยให้องค์ประกอบ ที่มาของกรรมการ อำนาจหน้าที่เป็นไปตามที่กำหนด และให้จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนการประชุมเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
6) กำหนดให้มีคณะกรรมการการบริหารมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยอธิการบดีเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง และให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
7) กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพันจากตำแหน่ง คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
8) กำหนดให้มหาวิทยาลัยอาจจัดตั้งวิทยาเขต ซึ่งทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนได้
9) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา และการประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
10) กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการบัญชีและการตรวจสอบทางบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัย ให้อธิการบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย
11) กำหนดบทเฉพาะกาล เกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สินงบประมาณฯ การดำรงตำแหน่ง และคณะกรรมการต่างๆ ส่วนราชการ การโอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานของมหาวิทยาลัย ตำแหน่งทางวิชาการ ตลอดจนระเบียบข้อบังคับ หรือประกาศที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นต้น
--------------------------------------------------------------------------------
►อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ฯ การรับรองวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
ครม.มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอให้รับรองและการรับรองวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. .... ตามที่ ศธ.เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง จากการที่กฎกระทรวงว่าด้วยการขอให้รับรองและการรับรองวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2551 มีสาระสำคัญคือ กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอให้รับรองและการรับรองวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ไม่ครอบคลุมถึงการกำหนดวิธีการขอให้รับรองและการรับรองวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน นอกจากนี้ในแบบคำขอให้รับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (รกอ.05) และแบบใบรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (รกอ.06) ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าว มิได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนประสงค์จะขอให้รับรองวิทยฐานะเพื่อทำการสอนเพื่อให้ปริญญาชั้นใด ในสาขาวิชาใด และรัฐมนตรีได้ให้การรับรองวิทยฐานะเพื่อทำการสอนเพื่อให้ปริญญาชั้นใด และในสาขาวิชาใด จึงสมควรปรับปรุงกฎกระทรวงและแบบแนบท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวเสียใหม่ โดยเพิ่มเติมการกำหนดวิธีการในการขอให้รับรองและการรับรองวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และรายละเอียดแบบแนบท้ายการรับรองและการให้การรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
ทั้งนี้ คณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556 ให้เสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1) ให้ยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการขอให้รับรองและการรับรองวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2551
2) กำหนดให้การรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพื่อทำการสอนเพื่อให้ปริญญาชั้นใด และสาขาวิชาใด ให้เป็นไปตามมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาที่ ศธ.กำหนด และให้ใบรับรองวิทยฐานะมีอายุ 5 ปี
3) กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการยื่นคำขอให้รับรองวิทยฐานะ การตรวจสอบคำขอ การพิจารณาคำขอ และการแจ้งผลการพิจารณาคำขอ
4) กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการเพิกถอนการรับรองวิทยฐานะกรณีสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษา
5) กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการรับรองวิทยฐานะที่มีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และให้คำขอรับรองวิทยฐานะและคำขอต่ออายุใบรับรองวิทยฐานะที่ยื่นก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับตกไป โดยให้ยื่นคำขอใหม่ตามกฎกระทรวงนี้
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/jun/176.html