นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
- พิจารณาลงโทษปลดข้าราชการครู ออกจากราชการ กรณีคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่น
- การพิจารณาเรื่องการขอความเป็นธรรมประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบผ่านเกณฑ์การสรรหา (เพิ่มเติม) ที่สอบผ่านร้อยละ ๖๐ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา
- อนุมัติให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านการพัฒนาตามระบบ e-Training แต่ไม่ผ่านการประเมินผลงานทางวิชาการ ตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด ได้รับการพิจารณาประเมินอีกครั้งหนึ่ง
- อนุมัติตั้งอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา แทนตำแหน่งที่ว่าง ๔ เขตพื้นที่การศึกษา
- กำหนดปฏิทินการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนข้าราชการครู ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ใน ก.ค.ศ. แทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง
- พิจารณาลงโทษปลดข้าราชการครู ออกจากราชการ กรณีคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่น
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่มีข้าราชการครูรายหนึ่งไปคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นมากถึง ๔๒ หน้า เพื่อนำไปใช้ในการเสนอขอปรับปรุงการเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ เห็นชอบด้วยกับมติ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจพิจารณากลั่นกรองเกี่ยวกับการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการ ว่าผลงานทางวิชาการของข้าราชการครูรายนั้นเป็นการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นตามมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งถือเป็นวินัยร้ายแรง โดยบทลงโทษกำหนดไว้เพียง ๒ ประการคือ ปลดออก และไล่ออก
ที่ประชุม ก.ค.ศ.จึงมีมติปลดออกจากราชการ จึงขอให้ครูที่จัดทำผลงานทางวิชาการต่างๆ ได้รับทราบว่า การลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นมา บทลงโทษที่กำหนดไว้รุนแรง จะได้ระมัดระวังและรอบคอบ ไม่นำผลงานทางวิชาการของผู้อื่นมาลอกเลียน
- การพิจารณาเรื่องการขอความเป็นธรรมประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบผ่านเกณฑ์การสรรหา (เพิ่มเติม) ที่สอบผ่านร้อยละ ๖๐ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา
ซึ่งมีผู้สอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๖๐ ทั้งหมด ๒,๘๘๒ คน ในขณะที่ได้ประกาศขึ้นบัญชีไว้จำนวน ๑,๖๕๘ ตำแหน่ง ส่วนที่เหลือจำนวน ๑,๒๒๔ คนไม่ได้ขึ้นบัญชี ซึ่งผู้ที่ไม่ได้ขึ้นบัญชีได้ให้ข้อมูลว่า สพฐ.มีตำแหน่งว่างเกินกว่า ๑,๖๕๘ ตำแหน่ง ที่ประชุมจึงได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและถกแถลงในที่ประชุม โดยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ให้ข้อมูลว่า อัตรา ๑,๖๕๘ ตำแหน่งนั้นเป็นข้อมูลจากสถานศึกษาที่มีนักเรียนมากกว่า ๖๐ คนขึ้นไปที่มีตำแหน่งว่างเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕ และคาดว่าจะมีตำแหน่งว่างจากการเกษียณในอีก ๒ ปี แต่ข้อมูลผู้ที่ขอความเป็นธรรมเป็นข้อมูลที่มีอัตรารวมจากสถานศึกษาที่มีนักเรียนต่ำกว่า ๖๐ คนด้วย ในขณะที่ สพฐ.สำรวจเฉพาะนักเรียนที่มีจำนวนเกิน ๖๐ คน เพราะโรงเรียนที่มีขนาดเล็กมีนักเรียนต่ำกว่า ๖๐ คน เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยไปรวมกับสถานศึกษาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
ที่ประชุมจึงมีมติเห็นว่า กรณีผู้ไม่ได้ขึ้นบัญชีไว้ ๒ ปี ก็ไม่สามารถบรรจุแต่งตั้งได้ แต่ในส่วนของผู้ที่ขึ้นบัญชีไว้แล้ว ก็จะดำเนินการให้มีการบรรจุแต่งตั้งให้ครบทุกรายที่ขึ้นบัญชีไว้ในภายใน ๒ ปี ก่อนที่อายุของบัญชีจะหมดลง
- อนุมัติให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านการพัฒนาตามระบบ e-Training แต่ไม่ผ่านการประเมินผลงานทางวิชาการ ตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด ได้รับการพิจารณาประเมินอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
๑) ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้ารับการประเมินอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับการพัฒนา ให้ยื่นคำขอเพื่อเข้ารับการพัฒนาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสาขาวิชาที่เสนอขอรับการประเมิน ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือส่วนราชการแล้วแต่กรณี
๒) ให้ส่วนราชการไปดำเนินการการพัฒนาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสาขาวิชา โดยให้ส่วนราชการเป็นผู้กำหนดหลักสูตรการพัฒนา และการพัฒนาต้องไม่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หลังจากนั้นให้มีการทดสอบวัดความรู้ และให้ถือว่าการพัฒนาตามหลักสูตรนี้เป็นการพัฒนาก่อนแต่งตั้ง
๓) เมื่อผ่านการพัฒนาและการทดสอบความรู้แล้ว ให้กลับไปปฏิบัติงาน ณ สถานศึกษาและสถานที่ปฏิบัติงานเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ภาคเรียน โดยให้ความรู้จากการพัฒนาไปปฏิบัติงานด้วย
๔) เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแล้ว ให้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน โดยให้รายงานกระบวนการปฏิบัติงานและผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ผลการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ผลการพัฒนาคุณภาพในการจัดการศึกษา ผลการนิเทศการศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และจัดส่งเอกสารให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือส่วนราชการแล้วแต่กรณี
๕) ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง ตั้งคณะกรรมการประเมินเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ขอรับการประเมินจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการประเมินทั้งหมด
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
- อนุมัติตั้งอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา แทนตำแหน่งที่ว่าง ๔ เขตพื้นที่การศึกษา
๑) นายพงพันธ์ มาแสวง เป็นอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครู ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๗
๒) นายสมพงษ์ จูมานัส เป็นอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครู ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรี เขต ๒
๓) นายสุทธิพงศ์ อาจวารี เป็นอนุกรรมการผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษา ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา
๔) นายอนงค์ พันพินิจ เป็นอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครู ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต ๔
- กำหนดปฏิทินการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนข้าราชการครู ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ใน ก.ค.ศ. แทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง
โดยกำหนดรับสมัครระหว่างวันที่ ๑-๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ประกาศรายชื่อและหมายเลขประจำตัวผู้มีสิทธิ์เข้ารับการเลือกตั้งวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ และกำหนดเลือกตั้งวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ตั้งแต่เวลา ๙.๐๐–๑๕.๐๐ น.
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/jan/042.html