นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ ๔/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
● การกำหนดเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ด้านการศึกษาของรัฐบาล เช่น นโยบายสำคัญในการเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา คุณภาพผู้ศึกษา การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ซึ่งมีผู้รับผิดชอบหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
นอกจากนั้น เรื่องอื่นๆ ได้มีการแจกจ่ายงานไปตามหน่วยงานต่างๆ เช่น นโยบายการนำสันติสุขสู่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลัก โดยจะมีการให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาหารือและดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ต่อไป
● ผลการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ
๑) การจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับยุทธศาสตร์ประเทศ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖-๒๕๖๑ ของ ศธ. ซึ่งเป็นการรายงานผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศและรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่ ศธ.เป็นเจ้าภาพบูรณาการ ๒ ประเด็น คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และกองทุนตั้งตัวได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการต่างๆ ซึ่ง ศธ.เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการร่วมกับกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นๆ อีก ๒๑ ประเด็น
๒) แผนปฏิบัติการด้านการศึกษาภายใต้ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี ๒๕๕๘ ซึ่งมีการเตรียมการต่างๆ ในการยกระดับคุณภาพการใช้ภาษาอังกฤษ การเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายนักศึกษาระหว่างประเทศในอาเซียน โดยมีโครงการสำคัญ (Flagship projects) รวม ๑๐ โครงการ คือ
- การแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านทักษะภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่น
- การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นประชาคมอาเซียน
- การแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้ของประชากรอาเซียน
- การเปิดเสรีและการลงทุนของสถานศึกษาเอกชนในอาเซียน
- การแลกเปลี่ยน-เทียบโอนหน่วยการเรียน
- การสร้าง/ส่งเสริมสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ในอาเซียน
- การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและการส่งเสริมกิจกรรมเยาวชนในอาเซียน
- การยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายในประชาคมอาเซียน
- การจัดทำหลักสูตรมาตรฐานสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- การผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัย ได้จัดทำยุทธศาสตร์ดำเนินการให้ประเทศไทยเป็นเมืองการศึกษานานาชาติ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสถาบันการศึกษาไทยให้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในสาขาที่โดดเด่นของประเทศ มีการจัดตั้งศูนย์สอนภาษาไทย ส่งเสริมหลักสูตรการศึกษานานาชาติ เป็นต้น
๓) การจัดทำแผนปฏิบัติราชการการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ ๒๕๕๖-๒๕๕๗ ของ ศธ.
๔) งบลงทุน ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ของ ศธ. ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่จะต้องจัดทำงบประมาณเสนอไปยังสำนักงบประมาณ จำนวนประมาณ ๑๒๘,๖๕๗ ล้านบาท
๕) ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ เพื่อให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหารจัดการต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีส่วนของขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องดำเนินการร่วมกันอีกมาก เช่น ขั้นตอนการกระจายอำนาจหน้าที่ การสร้างพัฒนาและเสริมสมรรถนะ/ศักยภาพของผู้บริหารและบุคลากร การปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น
๖) การจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการในการจัดตั้งแล้ว จะส่งผลให้ผู้เรียนด้านอาชีวศึกษาสามารถเรียนต่อในระดับปริญญาได้ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นนโยบายสำคัญที่ รมช.ศธ.เน้นคือ การยกระดับจำนวนของผู้เรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสายอาชีวศึกษากับสายสามัญเป็น ๕๐:๕๐ ภายในปี ๒๕๕๙
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ