มติ ครม. 15 ตุลาคม 2555 ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ๕ เรื่อง คือ
♦ เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัยฯ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙
♦ อนุมัติค่าใช้จ่ายต่อหัวในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการ
♦ อนุมัติให้รวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ๔๑ แห่ง
♦ เห็นชอบโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ระยะที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๖๐)
♦ เห็นชอบ MOU ระหว่าง ศอ.บต. กับองค์กร Muhammadiyah ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
๑. เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัยฯ ตามนโยบายรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙
ครม.มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑) ตามนโยบายรัฐบาล ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนในช่วงเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงที่มีความสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก เป็นช่วงวัยที่ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑) ตามนโยบายรัฐบาลด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ ให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ วัน โดยขอให้ดำเนินการในลักษณะแผนการดำเนินการระยะยาวและต่อเนื่อง ครอบคลุมเรื่องการดูแล การศึกษา และพลานามัยที่ดี และให้ ศธ.ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน และรายงานต่อคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เป็นระยะๆ หรือปีละ ๑-๒ ครั้ง
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของพ่อแม่และผู้ดูแลในการเลี้ยงเด็กที่เหมาะสมกับการพัฒนาการทางสมอง สติปัญญา ร่างกายและจิตใจของเด็กในช่วงปฐมวัยในอันที่จะมีภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างสมดุลในทุกด้าน ซึ่งประกอบด้วย ๔ ยุทธศาสตร์ ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เด็กทุกคนได้รับบริการในการพัฒนาเต็มศักยภาพ
- ยุทธศาสตร์ที่ ๒ ไอโอดีนกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
- ยุทธศาสตร์ที่ ๔ กลไกการดำเนินงานพัฒนาเด็กปฐมวัย
สำหรับความเป็นมาของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว สืบเนื่องจากการที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ได้ประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๕ ได้เห็นชอบความสำคัญของเด็กปฐมวัยและนโยบายของรัฐ (เร่งรัดเพื่อให้เด็กปฐมวัยแรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑ ทุกคน ได้รับการพัฒนารอบด้านตามวัยอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง) โดยมอบหมายให้ ศธ.ประสานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว
ต่อมา ศธ.โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้ดำเนินงานร่วมกับ ๗ กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓๕ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรชุมชน จัดประชุมปรึกษาหารือ และประชุมปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัยฯ เป็นระยะๆ หลายครั้ง โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงาน บุคคล สาธารณชนอย่างรอบด้าน จนกระทั่งนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ ครม.เห็นชอบในครั้งนี้
๒. อนุมัติค่าใช้จ่ายต่อหัวในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับคนพิการ
ครม.มีมติอนุมัติอัตราค่าใช้จ่ายต่อหัวในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับคนพิการทุกระดับทุกประเภท ตามที่ ศธ.เสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาสำหรับคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตการศึกษาที่มีคุณภาพตามที่กำหนด ตลอดจนให้คนพิการที่สำเร็จการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความรู้ ความสามารถ เพื่อใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือเพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพและใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
ค่าใช้จ่าย ที่ใช้สำหรับจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการ ประกอบด้วย ๑) ค่าบริหารจัดการ ได้แก่ ค่าวัสดุการศึกษา ค่าวัดและประเมินผลการศึกษา ค่าสอนเสริม ค่าเสื่อมสภาพ และค่านิเทศติดตาม ๒) ค่าตอบแทน ได้แก่ ค่าตอบแทนครูผู้สอน ค่าพาหนะ และค่าประกันสังคม ๓) งบประมาณเพิ่มเติมตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ ค่าหนังสือเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
สำหรับความเป็นมาที่ ศธ.ได้เสนอขออนุมัติ เนื่องจากข้อมูลปี ๒๕๕๐ พบว่าประเทศไทยมีคนพิการ ๑.๙ ล้านคน โดยเฉลี่ยประชากรที่พิการอายุ ๕-๓๐ ปี มี ๒.๓ แสนคน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ ๑๘.๓ ที่เข้ารับการศึกษาในระบบการศึกษา ในขณะที่ร้อยละ ๘๑.๗ ไม่ได้ศึกษาหรือไม่เคยได้รับการศึกษา จึงจำเป็นต้องจัดการศึกษาให้คนทุกประเภท รวมทั้งผู้พิการ โดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา ๔๙ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๔๕ และ พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๑ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ ในส่วนนโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ศธ.โดยสำนักงาน กศน.ได้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับคนพิการจำนวน ๗,๓๑๑ คน โดยจัดบริการใน กศน.ตำบลทั่วประเทศ ๗,๔๐๙ แห่ง แต่เนื่องจากการศึกษาคนพิการต้องใช้ระยะเวลา สื่อ วัสดุ อุปกรณ์เฉพาะสำหรับการเรียนการสอน ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายต่อหัวในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการ ต้องใช้งบประมาณจากเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวจากกลุ่มเป้าหมายประชาชนทั่วไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การจัดการเรียนการสอนสำหรับคนพิการ จะใช้จ่ายในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มประชาชนปกติเป็นอย่างมาก ดังนั้นการใช้งบประมาณจากเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่อหัวจากกลุ่มประชาชนทั่วไป จึงไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายตามที่รัฐบาลกำหนดได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น จึงได้ขอให้ ครม.กำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการ ต่อหัวต่อปี ซึ่ง ครม. ได้เห็นชอบดังนี้
๓. อนุมัติให้รวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ๔๑ แห่ง
ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงซึ่งออกตามความพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๑ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดให้รวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ดังนี้
- สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ ประกอบด้วยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีในภาคเหนือ รวม ๙ แห่ง
- สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม ๑๐ แห่ง
- สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง ประกอบด้วยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีในภาคกลาง รวม ๑๐ แห่ง
- สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ ประกอบด้วยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวิทยาลัยประมงในภาคใต้ รวม ๑๒ แห่ง
๔. เห็นชอบโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ระยะที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๖๐)
ครม.มีมติเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่เห็นชอบในหลักการโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ระยะที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๖๐) ตามที่ ศธ.เสนอ โดยให้ ศธ. ดำเนินการติดตามประเมินผลโครงการระยะที่ ๑ ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อรับทราบปัญหาอุปสรรคและประมาณการค่าใช้จ่ายต่อบุคคลที่เหมาะสมในโอกาสแรกก่อนที่จะมีการขยายผลโครงการต่อไป
สำหรับงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้เสนอตั้งงบประมาณรองรับไว้จำนวน ๕๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนในปีงบประมาณต่อไป ให้ ศธ.เสนอขอตั้งงบประมาณตามความเหมาะสมกับความจำเป็นในแต่ละปีงบประมาณต่อไป และให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
๕. เห็นชอบ MOU ระหว่าง ศอ.บต. กับองค์กร Muhammadiyah ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ครม.มีมติเห็นชอบหลักการร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (MOU) ระหว่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กับองค์กร Muhammadiyah ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามที่ ศอ.บต.เสนอ โดยให้เลขาธิการ ศอ.บต.เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ซึ่ง ร่าง MOU ดังกล่าวจะเป็นกรอบในการดำเนินงานการจัดสรรทุนการศึกษาให้เยาวชนจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย อันเป็นการเพิ่มช่องทางด้านการศึกษาอีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียด้วย
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/oct/274.html