ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ ๔/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ โดยมีสาระสำคัญ สรุปดังนี้
►เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์
โดยมีสาระสำคัญดังนี้
๑) ผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดส่วนราชการนั้น มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ. เทียบเท่า ดำรงตำแหน่งครูมาแล้ว ไม่น้อยกว่า ๔ ปี สำหรับผู้มีวุฒิปริญญาตรี และ ๒ ปี สำหรับผู้มีวุฒิปริญญาโทขึ้นไป หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่า และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ศึกษานิเทศก์)
๒) ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งในส่วนราชการ เป็นผู้ดำเนินการประกาศรับสมัคร และดำเนินการคัดเลือกตามหลักสูตรที่ ก.ค.ศ. กำหนด
๓) ให้ส่วนราชการกำหนดวันรับสมัครคัดเลือก วันสอบคัดเลือก ออกข้อสอบ ภาค ก และประมวลผลการคัดเลือก และภาค ข กำหนดตัวชี้วัด และคะแนนแต่ละองค์ประกอบการประเมินประวัติและผลงานที่เป็นปรนัย
๔) ให้ส่วนราชการกำหนดนโยบาย หรือแนวทางในการบริหารจัดการในการดำเนินการสอบแข่งขันให้มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
►เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขออนุมัติดำเนินการประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ตำแหน่งโครงสร้าง) ที่ว่างในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน ๑๖๙ ตำแหน่ง (รอง ผอ.สพป. ๑๒๖ ตำแหน่ง รอง ผอ.สพม. ๔๓ ตำแหน่ง) ซึ่งเดิมได้เคยนำเสนอในที่ประชุม ก.ค.ศ.ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาว่าจะให้มีการย้ายรอง ผอ.สพท.ที่เป็นตำแหน่งชั่วคราวและมีเงื่อนไขไปดำรงตำแหน่ง รอง ผอ.สพท.ที่ว่างอยู่ แต่เนื่องจากจะมีผลกระทบกับบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีคุณสมบัติที่จะเข้ารับการคัดเลือก ไม่สามารถเข้ารับการคัดเลือกในครั้งนี้ได้หากมีการดำเนินการย้าย รอง ผอ.สพท. เช่นนี้ ที่ประชุม ก.ค.ศ. จึงมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปพิจารณาแนวทางการสรรหาฯ อีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้นำเรื่องนี้เสนอต่อ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายและการบริหารงานบุคคล เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ ซึ่งได้เสนอแนวทางการสรรหาไว้ ๒ แนวทาง คือ ๑) อาจย้าย รอง ผอ.สพท. ที่เป็นตำแหน่งชั่วคราวและมีเงื่อนไขไปดำรงตำแหน่ง รอง ผอ.สพท.ที่เป็นตำแหน่งถาวร (โครงสร้าง) ตามตำแหน่งที่ว่าง หรือ ๒) อาจกำหนดสัดส่วนตำแหน่งว่างเป็น ๕๐:๕๐ เพื่อใช้ในการย้าย และเพื่อการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง รอง ผอ.สพท.ใหม่ และเมื่อได้หารือร่วมกันระหว่างสำนักงาน ก.ค.ศ. ผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนจาก สพฐ.แล้ว ก็มีความเห็นสอดคล้องกันในแนวทางที่ ๒ ในเรื่องการกำหนดสัดส่วน ๕๐:๕๐
แต่เนื่องจากอาจเกิดปัญหาเรื่องการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งกำหนดไว้ในทำนองเดียวกันกับคุณสมบัติของ ผอ.สพท. ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง และศาลปกครองพิษณุโลก หากมีการดำเนินการสรรหาไปก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว อาจเกิดปัญหาการฟ้องร้องกันอีก จึงเห็นควรชะลอการสรรหารอง ผอ.สพท.ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไปก่อน จนกว่าศาลปกครองกลางและศาลปกครองพิษณุโลกจะมีคำพิพากษา
►อนุมัติตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการศึกษา ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา
ที่ประชุมอนุมัติตั้ง นายสุชาติ ทาตะนาม เป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการศึกษา ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต ๑ แทนตำแหน่งที่ว่าง
►เห็นชอบแนวทางการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ขอหารือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ ก่อนวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันที่ ก.ค.ศ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ โดยเสนอว่าเมื่อได้รับการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนดแล้ว ให้มีผลอนุมัติในวันที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วน
ซึ่ง อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเกี่ยวกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งทำการแทน ก.ค.ศ. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
๑) กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษายื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ ว ๑๗ มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ ก่อนวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๔ – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นการดำเนินการพัฒนาเสร็จสิ้นในรุ่นแรกให้มีผลอนุมัติในวันที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วน กรณีให้มีการพัฒนาด้านที่ ๑ หรือด้านที่ ๒ หรือปรับปรุงด้านที่ ๓ ให้ได้รับการแต่งตั้งในวันที่อนุมัติ ซึ่งเป็นวันที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รับหนังสือที่ส่งรายละเอียดในการพัฒนาหรือปรับปรุงครบถ้วนสมบูรณ์ครั้งหลังสุด
๒) กรณียื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ ว ๕ หากผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดแล้ว ให้ได้รับการแต่งตั้งในวันที่อนุมัติ ซึ่งเป็นวันที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รับคำขอและเอกสารครบถ้วนจากส่วนราชการต้นสังกัด
๓) กรณีที่ยื่นคำขอรับการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ กรณีมีผลการประเมินไม่ผ่านด้านที่ ๓ ต่อมาผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด แต่ผลการพัฒนาซึ่งได้เคยผ่านการพัฒนาเดิมหมดอายุ (๕ ปี ) หากต่อมาผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตาม ว๓/๒๕๕๔ ให้ได้รับการแต่งตั้งในวันที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้รับเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานและผลงานทางวิชาการครบถ้วนสมบูรณ์
►รับทราบการรายงานการดำเนินการคำขอตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ ๐๒๐๖.๓/ว ๕ ลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๕ (ว๕/๒๕๕๕)
โดยสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รับคำขอในทุกสังกัด รวม ๔๕๗ ราย อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจเพื่อพิจารณากลั่นกรอง ตรวจสอบ และวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ได้รับการคัดเลือก และพิจารณาคำร้องคัดค้าน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว ๘ ครั้ง มีผู้ผ่านการคัดเลือกที่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมินตามเกณฑ์ ว๕/๒๕๕๕ จำนวน ๓๘๑ ราย
- แยกตามวิทยฐานะ เป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ๑๔๙ ราย วิทยฐานะเชี่ยวชาญ ๓๒๓ ราย
- แยกตามสังกัด สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๓๑๐ ราย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ๔๔ ราย สังกัดสำนักงาน กศน. ๒๗ ราย
สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้แจ้งรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกให้ส่วนราชการต้นสังกัดทราบแล้ว เมื่อได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประเมินจากส่วนราชการต้นสังกัดของผู้ขอรับการประเมินแล้ว สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเร่งออกทำการประเมินต่อไป และได้มีมติให้มีการประกาศใช้เกณฑ์ ว๕/๒๕๕๕ ในปีนี้ต่อไป เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีผลงานและได้รับรางวัลต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสขอรับการประเมินได้ เพราะเห็นว่าเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเกณฑ์ที่กระตุ้นให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแข่งขันกันพัฒนางาน และพัฒนานักเรียนให้ได้รับความรู้ยิ่งขึ้น
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/may/143.html