อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เตือนคนไทยระวัง "โรคลมร้อน" มีความความรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิต
วันที่ (24 เม.ย. )พลตรีหญิงเทียมใจ ศิริวัฒนกุล อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) แนะการดูแลตัวเองในช่วงฤดูร้อนว่า ส่วนใหญ่โรคที่มากับฤดูร้อน หรืออากาศที่ร้อนอบอ้าวในประเทศไทย และมีความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตคือ โรคลมร้อน หรือที่เรียกว่า Heat Stroke หรือที่หลายคนรู้จักกันดีคือ โรคลมแดด สาเหตุเกิดจาก การที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่อความร้อนที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นความร้อนจากภายนอกหรือภายในร่างกาย ซึ่ง อาการของโรคจะทวีความรุนแรงขึ้น อาทิ อาการอ่อนเพลียจากความร้อน (Heat exhaustion) จะมีอาการ อ่อนเพลีย ซีด ผิวหนังเย็นชื้น ชีพจรเบาเร็ว หายใจเร็ว กล้ามเนื้อเป็นตะคริว มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และเป็นลม หากไม่ได้รับการรักษาอาการจะรุนแรงขึ้นจนเป็นลมแดด (heat stroke) หรืออาการของ ฮีต สโตรก (Heat stroke) ได้แก่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นถึง 41 องศาเซลเซียส ผิวหนังแห้ง แดง ร้อน ไม่มีเหงื่อ ชีพจรเต้นเร็ว แรง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มึนงง สับสน คลื่นไส้ หมดสติ และเสียชีวิตจากการทำงานของอวัยวะสำคัญล้มเหลว
พลตรีหญิงเทียมใจ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการฎิบัติตัวอย่างถูกต้องเมื่อพบผู้เป็นโรคลมแดด ต้องส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที โดยทางโรงพยาบาลจะให้ผู้ป่วยอยู่ในห้อง ICU เพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ถอดเสื้อผ้าออก พ่นน้ำอุ่นให้เป็นละอองฝอยบนตัวผู้ป่วย ร่วมกับเปิดพัดลมเป่า และให้ออกซิเจนหรือถ้าจำเป็น อาจใส่ท่อช่วยหายใจ และยังต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดให้พอเพียง และแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอีกด้วย จากนั้นก็แก้ไขภาวะการทำงานผิดปกติของอวัยวะต่างๆของผู้ป่วยให้กลับสู่ภาวะปกติตามลำดับ
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์