รายงานข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) วันที่ 29 มีนาคม ที่มีนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะ สำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นระยะๆ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่งและวิทยฐานะที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 หรือการประเมินคงวิทยฐานะ ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดทำร่างหลักเกณฑ์การประเมินไว้แล้ว แต่ต้องเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาว่าจะให้ดำเนินการประเมินคงวิทยฐานะหรือไม่ เพราะทางสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ดูระเบียบของส่วนราชการอื่นๆ แล้วไม่มีการประเมินในลักษณะดังกล่าว อย่างกรณีของข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ตำแหน่งศาสตราจารย์ (ศ.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) มีการกำหนดให้ผู้ที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าวจะต้องมีการแสดงผลงานทางวิชาการในแต่ละปี แต่ไม่ได้มีผลต่อตำแหน่งวิชาการ เป็นต้น
รายงานข่าวระบุด้วยว่า หากที่ประชุม ก.ค.ศ.มีมติไม่เห็นชอบให้ดำเนินการประเมินคงวิทยฐานะ จะต้องมีการเสนอแก้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อตัดมาตรา 55 ออก ซึ่งหากไม่ดำเนินการเช่นนี้ ทางสำนักงาน ก.ค.ศ.ก็ต้องเร่งดำเนินการ เพราะใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ระบุเอาไว้ให้ประเมินคงวิทยฐานะ และขณะนี้ทางกรมบัญชีกลางก็มีความเป็นห่วง เนื่องจากในแต่ละปีมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับวิทยฐานะจำนวนมากและต้องใช้งบประมาณปีละกว่าแสนล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือน
ด้านนายพลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง ผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ค.ศ. ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่างหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้เสนอมาที่ ก.ค.ศ.นานมากแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2552 แต่ยังไม่ได้มีการนำเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ. เนื่องจากที่ผ่านมาเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะมีการปรับเปลี่ยนตลอด จึงยังไม่สามารถใช้เกณฑ์ประเมินคงวิทยฐานะ แต่ขณะนี้ทุกอย่างนิ่งแล้ว ทั้งนี้ ร่างหลักเกณฑ์ที่ได้นำเสนอในขณะนั้น กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับวิทยฐานะต่างๆ ครบ 3 ปี เช่น ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เป็นต้น จะต้องเข้ารับการประเมินคงวิทยฐานะ โดยหากครั้งแรกไม่ผ่านการประเมิน ก็จะให้โอกาสประเมินครั้งที่สอง และหากยังไม่ผ่าน จะให้รับการประเมินอีกครั้งเป็นครั้งที่สามและถ้าไม่ผ่าน ก็จะต้องใช้มาตรการงดจ่ายเงินวิทยฐานะ ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันนี้คาดว่าน่าจะมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในเกณฑ์เข้ารับประเมินคงวิทยฐานะมากกว่า 4 แสนคน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน