สถานี ก.ค.ศ.: ข้อสังเกตเกี่ยวกับมติของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาลงโทษ ขรก.ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ตอนที่ 2)
คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: ข้อสังเกตเกี่ยวกับมติของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาลงโทษ ขรก.ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ตอนที่ 2)
ศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ.
สัปดาห์ก่อนดิฉันได้เกริ่นนำในตอนที่ 1 ไปแล้วเกี่ยวกับการพิจารณาลงโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีพฤติกรรมทุจริต สำหรับวันนี้ขอนำเสนอแม้ว่าไม่มีพฤติกรรมทุจริต เช่นไม่มีหน้าที่ราชการโดยตรง แต่มติ ครม.หรือแนวทางการพิจารณาโทษ ให้ลงโทษเสมือนหนึ่ง หรือลงเท่ากับมีพฤติกรรมทุจริต คือ ไล่ออกสถานเดียวกับการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เช่น
กรณีเรียกเงินจากผู้สมัครสอบ ผู้สมัครสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือกได้ลงโทษไล่ออก
กรณีเกี่ยวกับการจัดซื้อพัสดุและการจ้าง เป็นเหตุให้เกิดการทุจริตหรือเสียหายแก่ทางราชการ ให้ลงโทษสถานหนัก (ปลดหรือไล่ออก)
กรณีการให้ถ้อยคำในการสอบสวนอันเป็นเท็จ ให้ลงโทษสถานหนัก (ปลดหรือไล่ออก)
กรณีการปลอมแปลงลายมือชื่อผู้อื่น ให้ลงโทษปลดออก
อนึ่ง กรณีการบรรจุข้าราชการผู้ซึ่งออกจากราชการเพราะการกระทำผิดวินัยกลับเข้ารับราชการ ทางปฏิบัติได้เคยมีแนวทางให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆพิจารณาด้วยความระมัดระวังในการรับบรรจุผู้เคยออกจากราชการเพราะกระทำผิดวินัยแล้วกลับเข้ารับราชการอีก แม้ว่าผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ เพราะกระทำผิดวินัยจะไม่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 4(10) (11) (12)แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2497 เพราะได้รับล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2499 แล้ว
แต่ผู้นั้นอาจเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 44(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2497 ก็ได้ ถ้าหากการกระทำอันเป็นเหตุให้ผู้ถูกลงโทษไล่ออกปลดออก หรือให้ออกจากราชการนั้น เป็นการบกพร่องในศีลธรรมอันดี เพราะการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินนั้น ล้างแต่เฉพาะโทษเท่านั้น หาได้ล้างการกระทำผิดนั้นด้วยไม่ (หนังสือสำนักงานก.พ. ที่ นว 2/2504 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์2504)
การลงโทษทางวินัยมีผลกระทบโดยตรงต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง จึงต้องมีการพิจารณาอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นธรรมอย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ การพิจารณากำหนดโทษผู้ถูกกล่าวหาซึ่งกระทำผิดวินัย ว่าสมควรจะถูกลงโทษในสถานใดนั้น อนุกรรมการในอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้แล้วกลับมาพิจารณาข้อกฎหมาย ประกอบกับข้อพิจารณาว่าข้าราชการครูที่มีพฤติกรรมกระทำความผิดนั้นเป็นความผิดในลักษณะที่มีแนวทางการลงโทษหรือมาตรฐานโทษตามมติคณะรัฐมนตรีก็ต้องนำมาเทียบเคยเป็นหลักการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษและต้องลงโทษไปตามนั้น
หากสงสัยควรสอบถามไปยังองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) โดยสอบถามไปยังภารกิจกฎหมาย อุทธรณ์และร้องทุกข์ (ภ.ก.) โทร.0-2280-1103 หรือภารกิจเสริมสร้างและมาตรฐานวินัย(ภ.ม.) โทร.0-2280-3221 ดิฉันยืนยันว่าทุกคำถามของท่านเรามีคำตอบ Q&A สวัสดีค่ะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน