เรื่องสาระน่ารู้เกี่ยวกับรถไฟ มันมีพวงมาลัยหรือเปล่า
"สวัสดีครับ" ท่านผู้อ่านทุกท่านวันนี้ผมมีเรื่องที่มีหลายๆท่านสงสัยมาตั้งแต่เด็กๆ จนโตแล้วก็ยังไม่หายสงสัยใคร่รู้ เมื่อถึงตรงนี้แล้วกระผมต้องขอย้อนหลังไปสมัยเด็กๆ ผมเชื่อว่าหลายๆ เมื่อได้ยินเสียง "ฉึก กะฉัก ฉึก กะฉัก ปู๊นนน ปู้นน" ท่านจะหันไปโบกมือ บ๊าย..บาย แล้วก็มองจนขบวนรถไฟนั้นลับตาไป แล้วของเล่นในสมัยที่ท่านยังเล็กผมเชื่อว่าต้องเคยมีของเล่น ที่ทำเป็นลักษณะรถไฟจำลองคันเล็กๆ ซึ่งทำจากพลาสติกหรือโลหะก็แล้วแต่ว่าราคาจะถูกหรือแพง คือมันจุดเริ่มต้นของหลายๆท่านที่อยากจะรู้ว่า เอ๊...แล้วรถไฟมันแล่นไปเนี้ยมันมีการบังคับเลี้ยวยังไงน้า... เหมือนรถยนต์รึป่าว ต้องใช้พวงมาลัยในการบังคับเลี้ยวในการหลีกกันของขบวนรถไฟรึป่าว ผมเองก็เช่นกันครับที่สงสัยเลยไปสอบถามแล้วก็ถ่ายภาพให้ชมกัน เพื่อประกอบคำอธิบายครับ
ภาพที่ท่านได้เห็นข้างบนนั้นคือภาพของ “ประแจกล” คือเครื่องอุปกรณ์ซึ่งจะวางไว้ ณ ทางหลีกหรือทางแยกหรือทางตัน เพื่อจะให้ขบวนรถเดินไปตามทางที่ต้องการ วิธีการทำงานของอุปกรณ์ตัวนี้จะได้รับการสั่งการให้กลับรางลิ้นของประแจ โดยคันกลับรางลิ้นนี้จะติดตั้ง รวมกันอยู่ที่เป็นหมู่ที่หอสัญญาณ ดังภาพที่ได้เห็นด้านล่างคือภาพของคันกลับรางลิ้นของประแจกลหมู่
โดยเชื่อมต่อด้วยลวดสลิง ไปสั่งการ “ประแจกล” ณ ที่ตั้งของประแจตัวนั้นๆ ซึ่งภาพ “ประแจกล” ที่ท่านเห็นรางลิ้นประแจลักษณะนี้รถไฟจะแล่นผ่านตรงไปข้างหน้าในทางตรงครับ โดยมีโคมไฟประแจแสดงให้พนักงานขับรถทราบว่า รางลิ้นประแจ กลับอยู่ในท่าทางตรงหรือทางแยกครับ (ต้องขอโทษด้วยนะครับเพราะว่ารูปประแจกลที่เอามาลงให้ดูเป็นรุ่นใหม่ที่เรียกว่า “ประแจกลไฟฟ้า” ที่ไม่ใช้ลวดสลิงสั่งการกลับรางลิ้นประแจ แต่ใช้ไฟฟ้าสั่งการมอเตอร์ขับเฟืองเพื่อใช้ในการกลับรางลิ้นประแจ แต่การทำงานหลักๆมันคล้ายๆกัน)
พอท่านอ่านมาถึงตรงนี้คงทำให้ท่านได้พอจะเข้าใจแล้วนะครับ ว่าที่จริงแล้วรถไฟไม่ได้ใช้พวงมาลัยในการบังคับเลี้ยวแต่ใช้ “ประแจ”ดังกล่าวมาแล้ว เพราะบนหัวรถจักรดีเซลที่ใช้ทำขบวนนั้น มีคันบังคับการหลักๆที่ใช้ในการขับเคลื่อนขบวนรถแค่ 4 อย่างได้แก่
1. Reverser (คันกลับอาการเดินหน้าหรือถอยหลัง)
2. Throttle Handle (คันเร่งรอบเครื่องยนต์)
3. Independent Brake Valve Handle (คันบังคับการห้ามล้อรถจักร IBV.)
4. Automatic Brake Valve Handle (คันบังคับการห้ามล้อขบวนรถ ABV.)
จริงๆแล้วมันมีรายละเอียดมากกว่านี้เยอะครับถ้าจะเอามาลงทั้งหมดกลัวจะเบื่อกันซะก่อนเอาไว้คราวหน้า ผมจะนำเรื่องที่คิดว่าท่านผู้อ่านอยากจะทราบเกี่ยวกับรถไฟที่เราๆท่านๆผูกพันธ์กันมาตั้งแต่เด็กๆ มาเล่าสู้กันฟังอีกครั้งนะครับสำหรับวันนี้ขอกล่าวคำว่า“สวัสดีครับ บ๊าย...บาย” “ฉึก กะฉัก ฉึก กะฉัก ปู๊นนน ปู้นน”
ขอขอบคุณ สุทธิรักษ์.คอม