คอลัมน์: สถานีก.ค.ศ.: การกำกับ ติดตาม การบริหารงานบุคคล ของข้าราชการครูฯ
ศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ.
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาพ.ศ.2547 มาตรา 19(3) กำหนดให้ก.ค.ศ.มีอำนาจและหน้าที่กำกับ ดูแลติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และมาตรา 20(7)กำหนดให้สำนักงาน ก.ค.ศ.มีอำนาจหน้าที่กำกับ ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา
จากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นก.ค.ศ.จึงได้ตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาขึ้น เพื่อทำหน้าที่แทน ก.ค.ศ.ในการกำกับ ดูแล ติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งพบข้อร้องทุกข์ร้องเรียนจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่เป็นระยะๆ และเพื่อให้การดำเนินการในการกำกับ ติดตามฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วจึงได้มีการตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจเกี่ยวกับการกำกับ ติดตามและตรวจสอบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา เพิ่มเติมอีกจำนวน 8 คณะ
โดยในวันที่ 2-3 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้จัดประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของอ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจเกี่ยวกับการกำกับติดตามและตรวจสอบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ได้เชิญคณะกรรมการ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ และ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจฯมาประชุมรับทราบอำนาจหน้าที่ และหารือร่วมกันในการวางกรอบการปฏิบัติงานและสร้างบรรทัดฐานในการกำกับติดตามร่วมกันโดยนำความรู้และประสบการณ์การปฏิบัติงานในพื้นที่มานำเสนอเป็นข้อมูล พื้นฐานเพื่อกำหนดกรอบการดำเนินงาน
จากการประชุมพบว่าเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ การจ้างทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ การเลื่อนขั้นเงินเดือน และการแต่งตั้งโยกย้าย ทั้งนี้ รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ในฐานะประธาน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการกำกับ ติดตามและประเมินผลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีนโยบายว่าต่อจากนี้การดำเนินการด้านการกำกับติดตามฯ จะต้องดำเนินการ 3 ด้านพร้อมๆ กันคือ ในเชิงรับ จะรับเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนและติดตามตรวจสอบตามระบบราชการ ในเชิงรุก คณะกรรมการจะต้องเข้าไปดูแลตรวจสอบและสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษาโดยไม่รอให้เกิดเรื่องและเพื่อเป็นการป้องกันการทำงานที่จะก่อให้เกิดข้อร้องทุกข์ร้องเรียน และสุดท้ายต้องมีการดำเนินการโดยใช้ยุทธศาสตร์ คือการกำหนดแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ
สำนักงาน ก.ค.ศ.หวังว่ากลไกการกำกับ ติดตามและตรวจสอบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ จะทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ภายใต้การบริหารงานบุคคลที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน