ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมเครื่องมือและเทคนิคการถ่ายภาพ  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

เทคนิคการใช้แฟลชในการถ่ายภาพ


เครื่องมือและเทคนิคการถ่ายภาพ เปิดอ่าน : 62,842 ครั้ง
Advertisement

เทคนิคการใช้แฟลชในการถ่ายภาพ

Advertisement

การใช้แฟลชขั้นพื้นฐาน (FOTOINFO)
เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ

          แสง คือ ปัจจัยสำคัญที่สุดของการถ่ายภาพ หากไม่มีแสงก็ไม่สามารถถ่ายภาพได้ โดยทั่วไปแล้วเราอาศัยแสงจากธรรมชาติหรือแสงอาทิตย์ แต่แสงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่สามารถควบคุมได้ จึงได้มีการคิดค้นแฟลชเพื่อช่วยให้เป็นแหล่งกำเนิดแสง

          แฟลช (Flash) มีลักษณะเป็นไฟวาบสว่างขึ้นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เป็นอุปกรณ์จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สภาพแสงธรรมชาติไม่เป็นตามที่นักถ่ายภาพต้องการ ซึ่งเชื่อว่าไม่มีนักถ่ายภาพคนใดไม่รู้จักแฟลช และยังเชื่อต่อไปอีกว่ามีนักถ่ายภาพจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจเรื่องแฟลชดีมากพอ ในบทความการใช้แฟลชขั้นพื้นฐานนี้ จึงเน้นการนำไปใช้งานทั่วไป และสอดแทรกข้อมูลทางเทคนิคบ้าง

          ทั้งนี้ แฟลช จะมีข้อมูลจำเพาะและฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปตามรุ่น โดยทั่วไปแล้ว แฟลช ในปัจจุบันจะมีระบบการทำงานแบบ TTL มีบ้างในแฟลชราคาถูกที่มีระบบการทำงานแบบ Auto หรือแมนนวล ซึ่งค่าหนึ่งที่จะบอกว่า แฟลช นั้นมีกำลังไฟที่สามารถทำงานได้ไกลเท่าไหร่และเป็นค่ามาตรฐานในการใช้งานคือ ค่าไกด์นัมเบอร์ (Guide Number คำย่อ GN.) ป็นค่าที่จะช่วยทำให้ทราบว่าแฟลชมีระยะในการทำงานเท่าไร เมื่อนำมาคำนวณในสูตร

          GN = ขนาดช่องรับแสง x ระยะห่างระหว่างแฟลชกับซับเจกต์

          สามารถคำนวณย้อนกลับเพื่อหาระยะการทำงานหรือขนาดช่องรับแสงได้เช่นกัน ในระบบการทำงานการแบบ TTL นั้นเราแทบไม่ได้สนใจเรื่องการคำนวณเหล่านี้แล้ว เพราะแฟลชจะคำนวณให้เราโดยอัตโนมัติ แต่เรายังต้องนำเอาค่า GN. มาพิจารณาในการเลือกซื้อแฟลช

          สำหรับเรื่องที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่งคือ การกระจายแสงของแฟลช ความสว่างของแสงแฟลชนั้นจะลดลงตามระยะทางทั้งในแนวลึกหรือระยะห่างระหว่างวัตถุกับแฟลช ซึ่งมีผลต่อการรับแสงของวัตถุที่อยู่ในตำแหน่งแตกต่างกัน การกระจายแสงนั้นหากจะเปรียบเทียบกับแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นแสงต่อเนื่องอย่างเช่น หลอดไฟแบบกลม หรือเทียน จะช่วยทำให้เราเห็นได้ว่า แสงมีการกระจายตัวออกไปในทุกทิศทางเท่า ๆ กัน และความเข้มแสงก็จะจางลงไป เมื่อมีระยะห่างจากแหล่งกำเนิดแสงมากขึ้น 

          หากอธิบายให้จำง่าย ๆ ก็คือ เมื่อวัตถุอยู่ห่างจากกล้องเป็นระยะทางห่างกัน 1 เท่า แสงแฟลชจะลดลงไป 2 สต็อป เรื่องนี้มีผลต่อการเลือกใช้เลนส์ เมื่อเราต้องการถ่ายภาพวัตถุหรือบุคคลที่อยู่ห่างกันด้วยแสงแฟลช การจะควบคุมให้วัตถุหรือบุคคลที่อยู่ด้านหลังให้ได้รับแสงแฟลชใกล้เคียงกับบุคคลด้านหน้านั้นเราจะต้องพยายามปรับค่าสัดส่วนของระยะห่างระหว่างกล้องกับวัตถุแรกและระยะห่างระหว่างวัตถุแรกกันวัตถุที่สองให้ลดลง

          หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเมื่อเรายิ่งใช้เลนส์มุมกว้างมากขึ้น ความแตกต่างของระยะห่างของวัตถุจะมีมากตามไปด้วย แต่ถ้าใช้เลนส์เทเล เราก็ต้องถอยออกมาเพื่อให้เก็บองค์ประกอบได้เท่ากัน ทำให้สัดส่วนของระยะห่างระหว่างกล้องกับวัตถุแรกและระยะห่างระหว่างวัตถุแรกกับวัตถุที่สองนั้นห่างกันลดลง มีผลทำให้วัตถุได้รับแสงในสัดส่วนที่แตกต่างกันไม่มาก เพราะฉะนั้นตำแหน่งของกล้องและการเลือกใช้เลนส์มีผลต่อการได้รับแสงแฟลช

          นอกจากเรื่องระยะทางแล้ว ในมิติด้านกว้างยาวก็จะมีเรื่องที่เกี่ยวกับรัศมีการกระจายแสงของแฟลชหรือวงแสงในการกระจายแสง หากแฟลชที่ไม่มีระบบซูมหัวแฟลชการกระจายตัวของแสงจะเท่ากันเสมอ แต่แฟลชมักจะมีระบบซูมหัว แฟลชเพื่อรวมกำลังแสงยิงแสงให้สอดคล้องกับเลนส์ที่ใช้ ในแนวคิดเดียวกันระยะห่างของพื้นที่ภาพระหว่างกึ่งกลางภาพกับขอบภาพนั้นแตกต่างกัน เมื่อใช้เลนส์มุมกว้างสัดส่วนของระยะ ห่างจากกึ่งกลางภาพก็จะมีมากกว่าเลนส์เทเล หากใช้ซูมที่แฟลชเป็นมุมแคบกว่าเลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพบริเวณของภาพแสงแฟลชก็ไม่สามารถยิงแสงกระจายได้ทั่วถึงขอบภาพจะมืด เรื่องเหล่านี้เป็นข้อมูลเรื่องพื้นฐานของการทำงานของแฟลช

ระบบการทำงานของแฟลชแบบต่าง ๆ

          เมื่อเราเปิดแฟลชหรือกล้องก็จะพบว่าแฟลชนั้นมีระบบการทำงานต่าง ๆ หลายฟังก์ชั่น โดยทั่วไปแล้วก็จะมีระบบชดเชยแสงแฟลช, ระบบแฟลชสัมพันธ์ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ (Slow Sync), ระบบถ่ายภาพคร่อมแสงแฟลช, ระบบแฟลชสัมพันธ์ชัตเตอร์ความเร็วสูง (High Speed Sync), ระบบแฟลชแก้ตาแดง (Red Eye Reduction), ระบบแฟลชสัมพันธ์ม่านชัตเตอร์ชุดที่สอง และอาจจะรวมไปถึงการควบคุมแฟลชแบบไร้สาย (Wireless) และการแบ่งกำลังแฟลชแบบแมนนวล

          ระบบเหล่านี้ใช้งานในหลากหลายสถานการณ์และส่วนใหญ่มักเลือกใช้กับได้อย่างถูกต้องอยู่แล้ว ทุกระบบแฟลชนั้นยังคงอยู่ใน 2 แนวคิดใหญ่ของการใช้แฟลชถ่ายภาพ คือ การใช้แฟลชเป็นแสงหลักหรือใช้แฟลชเป็นแสงเสริม

การใช้แฟลชเป็นแสงหลัก


เทคนิคการถ่ายภาพ


          เมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงธรรมชาติแล้วอยู่ในสภาพแสงน้อย แสงไม่เพียงพอในการถ่ายภาพ ความเข้มแสงของแสงธรรมชาติต่ำเกินไป ค่าความไวชัตเตอร์ที่กล้องวัดแสงได้มีค่าต่ำเกินไปที่จะถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือ หรือค่าความไวชัตเตอร์นั้นไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของวัตถุในภาพได้ แฟลชจะเป็นอุปกรณ์ที่ถูกใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงหลักในการถ่ายภาพ

          แสงหลัก หมายถึง แสงที่มีอิทธิพลต่อการบันทึกแสงของกล้องมากที่สุด ซึ่งอาจจะมีแหล่งกำเนิดมาจากหนึ่งแหล่งหรือมากกว่าก็ได้ ดังนั้นการใช้แสงแฟลชเป็นแสงหลักในการถ่ายภาพ จึงหมายถึงแสงที่วัตถุได้รับนั้นมีที่มาจากแสงแฟลชเป็นหลัก สถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้แสงแฟลชเป็นแสงหลัก คือ ค่าความเข้มแสงของแสงธรรมชาติมีน้อยมาก เช่น ในเวลากลางคืน

          เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่แสงธรรมชาติมีความเข้มแสงน้อยวัดแสงแล้วพบว่า ค่าความไวชัตเตอร์มีค่าต่ำเกินไป ต้องใช้แฟลชในการถ่ายภาพ ในกรณีที่ไม่มีแฟลช Hot Shoe ภายนอก กล้องบางรุ่นหรือกล้องดิจิตอลคอมแพ็ค จะมีแฟลชที่ติดตั้งมากับตัวกล้อง เปิดระบบแฟลชให้แฟลชทำงาน หรือกดปุ่มเพื่อให้แฟลชยกตัวขึ้นสำหรับกล้องที่มีแฟลชแบบ Pop up กล้องดิจิตอลและแฟลชรุ่นใหม่ที่ใช้ในปัจจุบันจะมีระบบทำงานแบบ TTL ซึ่งจะทำงานยิงแสงแฟลชให้มีค่าแสงที่พอดีโดยอัตโนมัติ

          หลักการทำงานของแฟลชแบบ TTL คือแฟลชจะยิงแสงพรีแฟลชออกไปเบา ๆ ก่อนยิงแสงแฟลชจริง แล้ววัดค่าแสงแฟลชที่สะท้อนวัตถุผ่านเลนส์เข้ามา พร้อมกับนำค่าระยะห่างของวัตถุและค่าขนาดช่องรับแสงมาคำนวณก่อนที่ยิงแสงแฟลชจริงออกไป ในบางระบบบันทึกภาพแฟลชจะทำงานเองโดยอัตโนมัติ ที่กล่าวมานั้นเป็นการใช้งานในระบบบันทึกภาพแบบ Creative (P, S, A, M) ซึ่งเป็นระบบที่นักถ่ายภาพต้องควบคุมระบบแฟลชเอง

          ระบบแฟลชที่ทำงานแบบ TTL จะทำงานร่วมกับกล้องโดยปล่อยปริมาณแสงแฟลชให้วัตถุได้รับแสงพอดี สิ่งที่นักถ่ายภาพต้องระวังเมื่อใช้แฟลชในการถ่ายภาพ คือ ต้องปรับค่าความไวชัตเตอร์ให้สูงพอที่จะถือกล้องถ่ายภาพได้ ที่สำคัญคือ จะต้องอยู่ในระยะการทำงานของแฟลช เพราะถ้าอยู่นอกระยะทำงานของแฟลช ภาพจะได้รับแสงที่น้อยกว่าพอดี ถ้าค่าแสงในการบันทึกภาพแตกต่างกับค่าแสงจริงของธรรมชาติมากเกินกว่า 3 Stop ขึ้นไป ก็จะไม่เห็นผลของแสงธรรมชาติเข้ามาในภาพ ฉากหลังของภาพจะเข้มดำ ไม่มีรายละเอียด

          นอกจากนี้ การทำงานของแฟลชโดยส่วนใหญ่ที่มีระบบการทำงานแบบ TTL มักจะทำงานได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำ ยกเว้นในบางครั้งที่วัตถุบางอย่างในภาพมีการสะท้อนแสงสีที่แตกต่างกันมาก ๆ เช่น วัตถุที่มีความมันวาว กระทกเงา ก็จะสะท้อนแสงกลับมามากกว่าปกติ ทำให้ระบบวัดแสงแฟลชภายในตัวกล้องคิดว่าวัตถุได้รับแสงพอดีแล้ว ภาพที่ได้จะอันเดอร์ ในทางตรงข้ามถ้าพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพมีการดูดกลืนแสงมากกว่าปกติ เช่น ในห้องที่ทาสีผนังในโทนเข้ม หรือบุผนังด้วยวัสดุสีโทนเข้ม ก็อาจทำให้ภาพที่ได้สว่างโอเวอร์ แฟลชจึงมีระบบชดเชยแสงแฟลชมาด้วย

การเบ๊าซ์แฟลช (Bounce Flash)


เทคนิคการถ่ายภาพ
การเบ๊าซ์แฟลช


          การเบ๊าซ์แฟลช (Bounce Flash) เป็นเทคนิคที่ทำให้แสงแฟลชนุ่มนวลขึ้นเมื่อถ่ายภาพในอาคาร สาเหตุที่ส่งผลทำให้แสงนุ่มหรือแสงแข็ง มีอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือขนาดของแหล่งกำเนิดแสงเมื่อเทียบกับขนาดวัตถุที่ได้รับแสง ประการที่สองคือ ระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดแสงถึงวัตถุที่โดนแสง ซึ่งขนาดของแหล่งกำเนิดแสง คือ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดเงาของภาพ ขนาดของแหล่งกำเนิดที่มีขนาดใหญ่กว่าจะส่งผลให้เกิดเงาน้อยกว่าแหล่งกำเนิดแสงที่มีขนาดเล็กกว่า เพราะเงาที่กระทบลงบนฉากหลังจะถูกแสงหักล้างซ้อนทับกันบนฉากหลัง

          ด้วยหลักการนี้ การใช้แฟลชถ่ายภาพในอาคารถ้าแฟลชสามารถปรับก้มเงยได้ก็ควรเบ๊าซ์แฟลชกับเพดานเพื่อให้ได้แสงที่นุ่มนวลขึ้น ยิงแสงแฟลชให้สะท้อนกับผนังหรือเพดานเมื่อแสงแฟลชตกกระทบกับเพดานก็จะกระจายแสงลงมาเปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดแสง

          ในการเบ๊าซ์แฟลช มีข้อควรระวังคือ ต้องดูว่าผนังหรือเพดานที่ต้องการยิงแสงแฟลชออกไปให้สะท้อนแสงมานั้นมีสีขาวหรือไม่ เพราะถ้าหากเป็นสีอื่นก็จะสะท้อนแสงออกมาตามสีนั้น ส่งผลทำให้ภาพได้รับแสงสีนั้นด้วย และอีกประการคือ เมื่อใช้แฟลชเบ๊าซ์สะท้อนเพดาน กำลังไฟของแฟลชจะถูกใช้มากกว่าการยิงแสงแฟลชตรงแบบปกติ แสงบางส่วนอาจถูกดูดกลืนไปบ้างตามความสามารถในการสะท้อนแสงของสี ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบด้วยว่าเพดานมีความสูงมากเกินไปจนแฟลชมีกำลังไฟพอหรือไม่ โดยสังเกตจากไฟสัญลักษณ์ด้านหลังแฟลชหรือดูภาพจากจอ LCD ก็ได้

การใช้แฟลชเป็นแสงเสริม (Fill In Flash)

          การถ่ายภาพโดยใช้แฟลชเป็นแสงเสริม (Fill In Flash) หมายถึง การถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติเป็นแสงหลัก ซึ่งมีค่าแสงเพียงพอในการถ่ายภาพแล้ว แต่ใช้แฟลชร่วมในการถ่ายภาพด้วย เพื่อให้แฟลชไปเปิดรายละเอียด เพิ่มมิติ เพิ่มความสดใสขึ้นให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถ่ายภาพแบบย้อนแสง

          เมื่อเราถ่ายภาพโดยใช้แสงธรรมชาติเป็นแสงหลัก การควบคุมกล้องจะไม่ซับซ้อน เลือกใช้ระบบบันทึกภาพที่ถนัด วัดแสงใช้ค่าแสงที่วัดได้นั้นจะเป็นค่าแสงในการบันทึกภาพเปิดแฟลชให้มีการทำงาน ยิงแสงแฟลชออกไปแม้ว่าแสงธรรมชาติจะเพียงพอแล้วก็ตาม สิ่งควรระวังเมื่อใช้แฟลชเป็นแสงเสริม คือ ในสภาพแสงที่มีค่าความเข้มแสงสูงมาก ๆ

          โดยปกติแล้วกล้องจะมีค่าความไวชัตเตอร์สัมพันธ์แสงแฟลชที่ 1/200-1/250 วินาที แต่เมื่อต้องถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีความเข้มแสงสูง ระบบแฟลชแบบ Hi Speed Sync จึงถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถถ่ายภาพด้วยแสงที่มีความไวชัตเตอร์สูงเกินค่าความไวชัตเตอร์สัมพันธ์แสงเฟลช แต่เมื่อใช้ระบบแฟลช Hi Speed Sync ระยะการทำงานของแฟลชจะลดลงมาก นักถ่ายภาพต้องหมั่นตรวจสอบค่าความไวชัเตอร์ว่ามีค่าสูงเกินกว่าค่าความไวชัตเตอร์สัมพันธ์แสงแฟลชหรือไม่ ถ้าเกินจะต้องเปิดระบบแฟลชให้มีการทำงานแบบ Hi Speed Sync ด้วย และดูสแกลแสดงระยะการทำงานของแฟลชด้วยอยู่ในระยะทำงาน

การชดเชยแสงแฟลชร่วมกับการชดเชยแสงธรรมชาติ 

          หลักการทำงานร่วมกันเมื่อต้องชดเชยแสงร่วมกัน ก็คือ การชดเชยแสงนั้นเป็นการชดเชยแสงให้กับแสงธรรมชาติ (Ambient Light) ซึ่งมีผลกับฉากหลังของภาพ เมื่อวัดแสงเพื่อถ่ายภาพแล้วต้องคิดว่าอยากให้ฉากหลังมืดลงหรือสว่างขึ้น จากนั้นก็ชดเชยแสงให้กับฉากหลังตามต้องการ ส่วนการชดเชยแสงแฟลชนั้น เป็นการชดเชยแสงให้กับซัปเจกต์ในภาพ การชดเชยแสงแฟลชจะไม่มีผลต่อแสงฉากหลัง ยกเว้นว่าแฟลชยิงแสงไปถึงฉากหลังด้วย

          ทั้งนี้ การชดเชยแสงแฟลชให้เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในการถ่ายภาพว่าสภาพแสงธรรมชาติขณะนั้นเป็นอย่างไร และความต้องการของช่างภาพว่าอยากให้ภาพมีลักษณะออกมาเป็นอย่างไร

          ทั้งหมดนี้เป็นระบบการทำงานพื้นฐานของแฟลชที่ใช้งานอยู่ประจำ เมื่อฝึกฝนได้ดีแล้วนักถ่ายภาพก็จะสามารถเลือกนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมและได้ภาพที่ดีมากขึ้น รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ภาพแบบต่าง ๆ ได้อีกด้วย


เทคนิคการใช้แฟลชในการถ่ายภาพ

บีบมุมแสงแฟลช เพื่อเน้นจุดเด่น


เทคนิคการถ่ายภาพ


          ทุกวันนี้เทคนิคการแยกแฟลชเป็นเรื่องที่นักถ่ายภาพรุ่นใหม่ ๆ คุ้นเคยกันดี ด้วยความก้าวหน้าของระบบแฟลชที่ทำให้ผู้ใช้สามารถแยกแฟลชออกจากตัวกล้องโดย ไม่ต้องใช้สายซิงค์ และการทำงานก็ยังเป็น TTL แฟลช ทำให้เราสามารถถ่ายภาพด้วยการแยกแฟลชออกจากตัวกล้องกันได้อย่างง่าย ๆ 

          แต่ภาพช็อตนี้ เทคโนโลยีช่วยทำให้ความยากกลายเป็นเรื่องกล้วย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ถ่ายกันได้ด้วยระบบ WIRELESS REMOTE FLASH ที่สั่งการทำงานจากแฟลชบ๊อปอัพ ก็ทำให้ภาพที่ดูเหมือนต้องจัดแสงวุ่นวายภาพนี้ แท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพที่บันทึกในเวลาไม่ถึง 15 นาที

          ด้วยความต้องการใช้แฟลชส่องแสงทะลุผ่านพื้นผิวของผลไม้ ผมจึงนำผลไม้มาฝานให้บาง ๆ แล้ววางบนกระดาษปอนด์สีขาว (กระดาษถ่ายเอกสาร) ขนาด A4 และเพื่อให้ภาพดูไม่ธรรมดาเกินไป ผมจึงนำแฟลชไปวางบนพื้น (ด้านล่างกระดาษ) โดยใช้มือซ้ายถือกระดาษ และมือขวาถือกล้อง ปรับตั้งแฟลชในโหมด WIRELESS TTL แล้วใช้แฟลชป๊อปอัพในการสั่งการทำงานของแฟลชแยก

          และเพื่อเน้นบางส่วนของภาพให้เด่นขึ้นมา ผมจึงซูมหัวแฟลชไปที่ช่วง 105 มม. เพื่อบีบแสงให้แคบลง และเล็งแฟลชให้ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการคือ ที่ช่องว่างระหว่างกีวีกับส้ม แสงจะตกบริเวณนี้แรงกว่าขอบภาพ ทำให้ภาพดูแปลกตาขึ้นลวดลายบริเวณขอบภาพคือ พื้นผิวของกระดาษ

          แสงหลักจะมาจากด้านหลังของซับเจกต์ โดยมีแสงจากแฟลชป๊อปอัพเปิดเงาด้านหน้า ซึ่งจะสังเกตได้จากเปลือกของกีวี การยิงแสงแฟลชผ่านวัตถุแบบนี้เป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพมาโคร หลักสำคัญอยู่ที่แสงต้องผ่านได้ และความเข้มแสงต้องเหมาะสม

ใช้แฟลชหยุดภาพ


เทคนิคการถ่ายภาพ


          ไฟแฟลชที่ฉายแสงออกไปพร้อม ๆ กับที่เรากดชัตเตอร์นั้น มีความไวสูงมากพอที่จะหยุดทุกอย่างที่เคลื่อนไหวอยู่ ให้หยุดนิ่ง ให้เกิดภาพได้ ผมมักใช้คุณสมบัตินี้มาใช้สร้างภาพอยู่เป็นประจำ เมื่อต้องถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนที่เร็ว ๆ ในสภาพแสงที่ไม่มากนัก

          การใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ ก็คงต่ำกว่า 1/15 วินาที ลงมา ไม่ควรต่ำกว่า 1 วินาที ใช้แก้ปัญหาในสภาพแสงน้อยแต่วัตถุเคลื่อนไหวเร็ว และเราต้องการให้ภาพแสดงความเคลื่อนไหว ขณะบันทึกภาพต้องแพนกล้องตามวัตถุไปในทิศทางเดียวกัน คือวัตถุเคลื่อนผ่านหน้าเรา เราต้องเริ่มจับภาพก่อนจะผ่านหน้าเราไป และกดชัตเตอร์บริเวณที่อยู่ตรงหน้าเรา พร้อมกับแพนเลยไปอีกเล็กน้อย

          อ่านดูเหมือนจะยากแต่ลองปฏิบัติดูไม่ยากครับ ซ้อมสักรอบสองรอบก็ใช้ได้แล้ว ส่วนที่ไฟแฟลชฉายไปกระทบวัตถุก็จะหยุดนิ่ง ส่วนที่ไฟแฟลชยังไม่ฉายไปกระทบ ก็จะเกิดการบันทึกภาพเป็นภาพที่พลิ้วไหว สร้างความเคลื่อนไหวให้กับภาพ และฉากหลังที่อยู่ไกลออกไปก็ไม่ถูกรบกวนจากแสงแฟลชที่ฉายแสงไปไม่ถึง

          และมีบ่อยครั้งที่มีใช้ไฟแฟลชเพื่อลดแสงให้กับฉากหลังของภาพให้มืดครึ้มลง มีหลายทริปที่ผมต้องถ่ายภาพกลางวันที่มีแสงเจิดจ้ามาก ท้องฟ้าก็มีสีขาวอมทุกข์ ผมนำไฟแฟลชขึ้นเสียบกับฮอทชูของกล้องปรับระบบบันทึกภาพของกล้องมาที่ตัว M วัดแสงโดยรวมให้มีฉากหลังของท้องฟ้าร่วมอยู่ในเฟรม ซึ่งน่าจะได้สภาพแสงที่ 1/250 รูรับแสง f/11 ที่ ISO-100 คราวนี้ก็มานึกว่าจะให้ภาพโดยรวมมืดลงสักเท่าไหร่ เอาเป็นสองรูรับแสงแล้วกัน ผมก็รี่รูรับแสงมาที่ f/22 เพื่อให้ภาพมืดลง แต่ไม่ใช่การปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้นนะครับ เพราะกล้องกำหนดมาแล้วว่าไม่ให้ใช้เกิน 1/250 อยู่แล้ว ส่วนแฟลชก็ตั้งรูรับแสงไว้ที่ f/22 หรือจะกว้าง หรือแคบกว่านั้น ตามชอบใจ สามารถตรวจได้ทันทีอยู่แล้ว เพียงดูที่จอมอนิเตอร์ของกล้อง

          ข้อควรระวังคือ ต้องวางวัตถุที่ต้องการจะบันทึกภาพไม่ว่าจะเป็นคน หรือดอกไม้ หรืออื่นๆ ที่เป็นฉากหน้าให้อยู่ใกล้พอที่ไฟแฟลชจะฉายไปถึง ต้องใกล้พอนะครับ ตรวจดูที่สเกลด้านหลังแฟลชก็ได้ครับว่า f/22 ไฟแฟลชฉายไปได้ไกลใกล้แค่ไหน ต้องอยู่ในช่วงนั้น ปัญหามักจะมืดหรือสว่างไปก็ตรงที่วัตถุที่เราจะถ่ายภาพอยู่ใกล้หรือไกลเกิน กว่าที่สเกลของไฟแฟลชระบุไว้

          สุดยอดของวิชาการใช้แฟลชคือ ต้องไม่ให้คนดูภาพรู้ว่าเราใช้แฟลช

Drop Background


เทคนิคการถ่ายภาพ


          เทคนิคในการใช้แฟลชถ่ายภาพนั้นหลากหลายมาก แฟลชเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในเรื่องแสง โดยเฉพาะเรื่องความเข้มแสงและทิศทางแสงในการถ่ายภาพเราสามารถใช้แฟลชสร้าง ความโดดเด่นกับซับเจกต์ให้ได้รับค่าแสงที่แตกต่างกับแสงธรรมชาติ ทั้งเรื่องของปริมาณแสงและทิศทางแสง

          ในการถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป เทคนิคขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้ได้ภาพที่น่าสนใจ เมื่อถ่ายภาพในขณะที่ฉากหลังมีรายละเอียดมากเกินไปหรือเรียกแบบชาวบ้านว่า "รก" ซับเจกต์หลักจมไปกับฉากหลัง เนื่องจากถูกแย่งความน่าสนใจ รายละเอียดของฉากหลังเบี่ยงเบนดึงดูดสายตาไปบ้าง แฟลช คืออุปกรณ์ที่ช่วยจัดฉากหลังที่ไม่ต้องการไปได้ โดยมีหลักการใช้งานง่าย ๆ ก็คือให้ซับเจกต์ได้รับแสงจากแสงแฟลช และเปิดรับค่าแสงธรรมชาติซึ่งเป็นค่าแสงของฉากหลังที่ต่ำกว่าค่าพอดี ส่วนจะมากน้อยเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการ เราเรียกว่าเป็นการ Drop Background เป็นเทคนิคง่ายที่ใช้ได้ผลดีเสมอ การ Drop Background นั้น ก็เพื่อลดรายละเอียดและค่าความสว่างของฉากหลังซึ่งอาจรวมไปถึงสีด้วย

          การทำให้แสงเกิดความแตกต่างกันในภาพโดยเทคนิคขั้นพื้นฐานซึ่งง่ายและได้ใช้งานบ่อยมาก แต่ทั้งหมดก็มีที่มาจากการชดเชยแสงแฟลชร่วมกับการชดเชยแสงฉากหลัง ซับเจกต์หลักจะได้รับแสงจากแฟลช ส่วนฉากหลังก็จะได้แสงจากแสงธรรมชาติ เมื่อเราต้องการกดแสงฉากหลังให้มีค่าแสงลดลงก็เพียงแค่ชดเชยแสงที่กล้องวัด ได้ โดยสังเกตจากสเกลวัดแสง

          แต่ถ้าต้องการให้มืดดำสนิทก็อาจเลือกใช้ระบบบันทึกภาพแบบ M แล้วปรับค่าแสงโดยให้แสงธรรมชาติต่ำมากกว่า 2 สต๊อปส่วนซับเจกต์นั้นก็จะได้รับแสงจากแฟลช ปริมาณแสงที่ซับเจกต์นั้นจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับการปรับค่าแสงแฟลช ในระบบ TTL ซึ่งง่ายและสะดวกที่สุดคุณก็เพียงแค่ปรับชดเชยแสงแฟลชที่ตัวแฟลชหรือที่ตัว กล้องในบางรุ่น (ซึ่งไม่ใช่ค่ารับแสงธรรมชาติ)

          ทั้งหมดคือหลักการง่าย ๆ เรื่องการควบคุมแสงแฟลชและแสงฉากหลังแต่หัวใจสำคัญในการ Drop Background ให้เข้มขึ้นนั้น คือการพยายามปรับแสงให้ให้ดูเป็นธรรมชาตินุ่มนวล ซับเจกต์ไม่ดูแตกต่างจนโดด ภาพดูแข็งเกินไปฉากหลังไม่จำเป็นต้องเข้มดำมืดสนิทถึงขั้นไม่มีรายละเอียด บางครั้งเพียงแค่มืดลงต่ำกว่าราว 1-2 สต็อป ก็ได้ภาพที่น่าสนใจแล้ว ส่วนบางภาพก็อาจจะลดลงจนเข้าดำก็ได้ อย่างเช่นในกรณีของภาพมาโคร บางครั้งภาพที่ดีไม่ได้มาจากเทคนิคยุ่งยากพิสดาร เทคนิคพื้นฐานง่าย ๆ ถ่ายภาพให้ดูดีไม่ยากครับ

Create Silhouette With Flash


เทคนิคการถ่ายภาพ


          ภาพตัวอย่างข้างบนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการใช้แฟลชที่ผมนำมาใช้บ่อย ๆ นั่นคือการใช้แฟลชสร้างภาพแบบซิลลูเอท ซึ่งภาพนี้จริง ๆ แล้วเกิดจากการผิดแผนในเรื่องของดินฟ้าอากาศ ความตั้งใจจริง ๆ ของผมหวังว่าจะได้ท้องฟ้าในช่วงทไวไลน์ที่เป็นสีน้ำเงินเข้ม ๆ แต่กลับเป็นเจอเมฆฝนทะมึนสีเทาแทน เลยต้องเปลี่ยนแผนมาใช้เลนส์มุมกว้างแล้วลงไปยืนในสระที่น้ำสูงเกือบถึงคอ วางกล้องในระดับเหนือน้ำนิดนึง แล้วจึงถ่ายงัดขึ้นเพื่อเก็บบรรยากาศริ้วเมฆฝน ใจนึงก็อยากได้เงาสะท้อนของตัวแบบบนผิวน้ำแบบเต็มตัว แต่ผมอยากได้เงาดำของต้นไม้ทั้งสองข้างด้านบนมาเป็นกรอบให้ภาพมากกว่า บวกกับข้อจำกัด ความลึกของระดับน้ำในสระที่ผมยืน จึงต้องยอมสัดส่วนของเงาสะท้อนบางส่วนไป

          จากนั้นให้ผู้ช่วยแยกแฟลชไว้หลังตัวแบบ ตั้งแฟลชระบบแมนนวลกำลังแฟลช 1 : 1 เพราะชุดเจ้าสาวค่อนข้างหนาผมกลัวว่าหากแฟลชเบาไปแสงจะไม่ทะลุผ่านและเนื่อง ด้วยผมต้องทำงานแข่งกับฝนที่กำลังลงเม็ดมา จึงใช้วิธีปรับค่าการรับแสงที่ตัวกล้องแทนการปรับกำลังไฟที่ตัวแฟลชอย่างที่ เคย จากนั้นก็เช็คแสงที่ผ่านออกมารวมถึงโครงสร้างรูปร่างของตัวแบบว่ารูปหน้ารูป ร่างชัดเจนไม่ปิดเบี้ยว จากนั้นนำมาปรับ WB และ Tint ในกระบวนการแปลงไฟล์ให้ออกสีชมพูอย่างที่เห็นในภาพ

          จริง ๆ แล้วเทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ไม่ยุ่งยาก มีแฟลชตัวเดียวก็สามารถทำได้ และสามารถทำงานคนเดียวได้ (หากไม่ต้องลงไปแช่น้ำแบบผมนะครับ) แต่ต้องระวังเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการแยกแฟลช หากคุณใช้อุปกรณ์แยกแฟลชที่ทำงานด้วยระบบอินฟราเรด แฟลชมักจะไม่ทำงานเพราะโดนตัวแบบบัง ควรใช้อุปกรณ์แยกแฟลชที่ทำงานด้วยคลื่นวิทยุดีกว่า


  


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เทคนิคการใช้แฟลชในการถ่ายภาพ

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

มุมกล้องกับช่องว่าง

มุมกล้องกับช่องว่าง


เปิดอ่าน 38,244 ครั้ง
การถ่ายภาพมาโคร MACRO PHOTOGRAPHY

การถ่ายภาพมาโคร MACRO PHOTOGRAPHY


เปิดอ่าน 29,465 ครั้ง
เรื่องของเลนส์

เรื่องของเลนส์


เปิดอ่าน 49,166 ครั้ง
ISO นั้นสำคัญไฉน

ISO นั้นสำคัญไฉน


เปิดอ่าน 26,722 ครั้ง
กฎสามส่วน (Rule of Third)

กฎสามส่วน (Rule of Third)


เปิดอ่าน 45,352 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

กฎสามส่วน (Rule of Third)

กฎสามส่วน (Rule of Third)

เปิดอ่าน 45,352 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
การถ่ายภาพมาโคร MACRO PHOTOGRAPHY
การถ่ายภาพมาโคร MACRO PHOTOGRAPHY
เปิดอ่าน 29,465 ☕ คลิกอ่านเลย

ไขความลับ 95 ภาพสุดยอดจากรอยเตอร์ มาจากกล้องอะไร ตั้งค่าแบบไหน
ไขความลับ 95 ภาพสุดยอดจากรอยเตอร์ มาจากกล้องอะไร ตั้งค่าแบบไหน
เปิดอ่าน 19,892 ☕ คลิกอ่านเลย

มุมกล้องกับช่องว่าง
มุมกล้องกับช่องว่าง
เปิดอ่าน 38,244 ☕ คลิกอ่านเลย

ตัวอย่างภาพถ่าย จากกล้องของ iPhone 5
ตัวอย่างภาพถ่าย จากกล้องของ iPhone 5
เปิดอ่าน 14,177 ☕ คลิกอ่านเลย

ความรู้พื้นฐานที่นักถ่ายรูปทุกคนควรทราบ
ความรู้พื้นฐานที่นักถ่ายรูปทุกคนควรทราบ
เปิดอ่าน 39,236 ☕ คลิกอ่านเลย

เหตุผลที่ต้องซื้อ "กล้องดิจิตอล"
เหตุผลที่ต้องซื้อ "กล้องดิจิตอล"
เปิดอ่าน 25,354 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ฟุตซอล(Futsal): กติกาข้อ 11 การนับประตู
ฟุตซอล(Futsal): กติกาข้อ 11 การนับประตู
เปิดอ่าน 40,398 ครั้ง

ความหมายของระบบ
ความหมายของระบบ
เปิดอ่าน 206,426 ครั้ง

การขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
การขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
เปิดอ่าน 54,233 ครั้ง

คันนี้ร้อยล้าน
คันนี้ร้อยล้าน
เปิดอ่าน 12,987 ครั้ง

ดูแลตัวกันเยอะแล้ว มาดูแลเท้ากันบ้างดีกว่า!
ดูแลตัวกันเยอะแล้ว มาดูแลเท้ากันบ้างดีกว่า!
เปิดอ่าน 11,870 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ