บทที่ 5
สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นการศึกษาค้นคว้าในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนเทศบาล 3 (วัดท่ามะปราง) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จัดทำสื่อการสอน เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง โดยการสร้างสื่อ การสอนจากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี ซึ่งสรุปขั้นตอนและผลการศึกษาค้นคว้าดังนี้
5.1 จุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
1. เพื่อหาประสิทธิภาพของสื่อการสอน เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง โดยการสร้างสื่อการสอนจากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี ตามเกณฑ์มาตรฐาน 75/75
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ของกลุ่มทดลองก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้สื่อการสอนจากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี
3. เพื่อให้รู้และเข้าใจระบบและวิธีการเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีดุลยภาพ
4. เพื่อให้รู้และเข้าใจการวางแผน การใช้จ่ายของตนเอง และครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
5. เพื่อให้นักเรียนรู้จักประหยัด และอดออม
6. เพื่อให้นักเรียนรู้จักยับยั้งชั่งใจ
5.2 ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า
1. ช่วยให้นักเรียนได้แนวทางในการรู้จักอดออมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
2. ได้แนวทางในการสร้างสื่อการสอนให้แก่นักเรียนเพื่อปรับปรุงคุณภาพและพัฒนาการเรียนการสอนรายวิชาสังคมศึกษาให้มีประสิทธิภาพ
3. ช่วยให้ผู้บริหารและผู้นิเทศการเรียนการสอน ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะของนักเรียนในระดับประถมศึกษา นิเทศ ติดตามผลการเรียนการสอนรายวิชาสังคมศึกษาได้อย่างดี
5.3 ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า
1. ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 40 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนเทศบาล 3 (วัดท่ามะปราง) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
2. เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม แผนการเรียนรู้ที่ 15 เรื่อง พออยู่พอกิน ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภค การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณธรรม การใช้จ่ายอย่างประหยัด อดออม และเพื่อให้ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
3. ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ใช้เวลาสอน 2 ชั่วโมง
4. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่
แบบทดสอบก่อนเรียน
แบบทดสอบหลังเรียน
แบบเกมวัดการสังเกต
แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง พออยู่ พอกิน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
สื่อการสอน เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง จากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี
5.4 สรุปผลการใช้สื่อการสอนโดยการสร้างสื่อ การสอนจากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี
หลังจากนักเรียนได้รับการสอนด้วยสื่อการสอน เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง โดยการสร้างสื่อ การสอนจากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี แล้ว ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ของกลุ่มทดลองก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้สื่อการสอนจากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี พบว่าความรู้ความเข้าใจ ในเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ของนักเรียนกลุ่มทดลองมีการพัฒนาทางทักษะความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นหลังจากได้รับการเรียนโดยใช้สื่อการสอนจากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
ในด้านของประสิทธิภาพของสื่อการสอน เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง โดยการสร้างสื่อการสอนจากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยีนี้มีประสิทธิภาพ 87.50/84.28 แสดงว่า ประสิทธิภาพของสื่อการสอน เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง โดยการสร้างสื่อการสอนจากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 2 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 75/75 และสามารถนำไปใช้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.5 อภิปรายผล
หลังจากให้นักเรียนทำงานที่มอบหมายให้ในข้างต้นแล้ว นักเรียนกลุ่มทดลอง จำนวน 40 คน นักเรียนส่วนใหญ่สามารถทำได้ตรงตามจุดประสงค์ของครู จะมีนักเรียน บางคนเท่านั้นที่ไม่ได้ทำงานมาส่ง หรือทำงานไม่ทันในชั่วโมง คือจากการ ตรวจงาน
นักเรียนเขียนได้ตรงตามเนื้อหาที่สอน เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง สามารถทำแผนผังความคิดรายรับ – รายจ่ายได้ จากที่ได้เรียนไป และตามคำแนะนำของผู้ปกครอง แต่นักเรียนที่ทำไม่ทัน หรือไม่ได้ทำ คือนักเรียนที่ไม่สนใจฟัง และไม่ค่อยตั้งใจเรียนเวลาครูสอน หรือคุยกับเพื่อนจนทำงานที่ครูมอบหมายให้ไม่ทันเวลาที่กำหนด
5.6 ข้อเสนอแนะ
หลังจากครูสอนจบหน่วยการเรียนรู้ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว และให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกันในชั้นเรียนแล้ว พบปัญหา คือ
- นักเรียนบางคนยังบันทึกรายรับ – รายจ่ายไม่เป็น
- ผู้ปกครองบางคนยังไม่มีเวลาสอนการบ้านลูกของตน สังเกตได้จากนักเรียนทำงานไม่เสร็จ และไม่ส่งงานตามกำหนดเวลา
- นักเรียนบางคนยังใช้คอมพิวเตอร์ยังไม่คล่อง สังเกตได้จากการเรียนในบทเรียน PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากบางคนพูดคุยกับเพื่อนระหว่างเรียน
5.7 การแก้ปัญหา และการปรับปรุง
- นักเรียนที่บันทึกรายรับ – รายจ่ายในแบบบันทึกไม่เป็น ครูจะเรียกนักเรียนมาสอนเป็นรายบุคคล เพื่อให้นักเรียนเข้าใจมากยิ่งขึ้น
- ครูเขียนข้อความแจ้งผู้ปกครอง ในสมุดจดการบ้านของนักเรียน เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับทราบ และให้คำแนะนำเรื่องรายรับ – รายจ่าย ของครอบครัว และการบันทึก ให้กับนักเรียนในปกครองของตน เพื่อเป็นการขอความร่วมมือจากผู้ปกครองด้วย
- ครูอาจนำเด็กเข้าไปใช้ห้องคอมพิวเตอร์ ในบางเนื้อหาที่ครูสามารถสร้างบทเรียนประกอบการสอนในหน่วยการเรียนรู้อื่น ๆ เพื่อนักเรียนจะได้ฝึกใช้คอมพิวเตอร์นอกเหนือจากการเรียนในชั่วโมงคอมพิวเตอร์แล้ว หรือขอความร่วมมือจากครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ให้ช่วยสังเกตนักเรียนบางคนที่ยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่คล่อง และช่วยสอนเพิ่มเติมให้นักเรียน
- ครูได้จัดทำแบบบันทึกพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน เพื่อสังเกตและบันทึกพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคน หลังจากเรียนบทเรียนไปแล้ว
5.8 ผลจากการปรับปรุงแก้ไขบทเรียน
- นักเรียนสนใจเรียนมากขึ้น เพราะมีความเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น
- ผู้ปกครองบางท่านให้ความสนใจนักเรียนเพิ่มขึ้น สังเกตจากการทำงาน และการส่งงานของนักเรียนที่เคยมีปัญหา สามารถพัฒนาได้ดีขึ้นกว่าเดิม
- นักเรียนสนใจบทเรียนจากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี มากยิ่งขึ้น เพราะได้เห็นรูปภาพ และความแปลกใหม่ในการเรียน วิชาสังคมศึกษาฯ และใช้คอมพิวเตอร์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะมีการฝึกฝนทั้งในชั่วโมงเรียน หรือกลับไปใช้คอมพิวเตอร์ที่บ้านของตนเอง
- นักเรียนบางคนนำเรื่องราวบทเรียนจากโปรแกรม PowerPoint นวัตกรรมเทคโนโลยี ไปเล่าให้ผู้ปกครองรับทราบ และบอกถึงความชอบเรียนในบทเรียนนี้ ซึ่งผู้สอนรับรู้จากการที่ผู้ปกครองบางท่านได้นำมาเล่าให้ครูฟัง