เท่าที่ผู้เขียนเคยทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นมาเมื่อหลายปีที่ผ่านมานั้นทำให้พบว่ามันก็มีปัญหาในตัวของมันเองอยู่หลายประการด้วยกัน...คือถ้าพูดเข้าข้างตัวเองหน่อยก็จะว่าผลงานตัวเองนั้นดี...ถึงแม้จะไม่ดีเลิศประเสริฐศรี...แต่ก็น่าจะผ่านเกณฑ์การประเมินไปได้ (ข้อนี้เป็นธรรมชาติของคนรวมทั้งผู้เขียนเองด้วยที่จะคิดเช่นนั้น)...แต่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ท่านเป็นผู้ตรวจอาจจะไม่ได้คิดเหมือนเรา...ไม่เคยพูดคุยกับผู้ตรวจหรอก...แต่เคยศึกษาจากเอกสารเขาเขียนไว้ว่า...ถ้าผลงานดีก็อนุมัติเลย...ผลงานพอใช้ได้ก็จะให้แก้ไขปรับปรุงหรือขอเอกสารเพิ่มเติม...ผลงานไม่ผ่านเกณฑ์ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีแต่มันไม่ผ่านเกณฑ์...ก็จะไม่อนุมัติ ซึ่งท่านได้ให้ข้อสังเกตด้านคุณภาพของผลงานทางวิชาการในเรื่องความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระว่า...ส่วนใหญ่ยังขาดความกระจ่างชัดและความต่อเนื่อง รองลงมาคือขาดความถูกต้อง ทันสมัย และความประณีตของผลงาน เช่น พิมพ์ผิด ตัวสะกดผิด แบบฟอร์มไม่ถูกต้อง ฯลฯ ส่วนในเรื่องความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นั้น ส่วนใหญ่ยังขาดการรายงานผลการใช้หรือมีแต่ยังไม่ชัดเจนไม่สมบูรณ์ สำหรับประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ ในเรื่องประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่เนื้อหามีการอธิบายที่สั้น สับสนไม่ชัดเจน รองลงมาคือเนื้อหามีประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษาน้อย และเนื้อหาไม่มีอะไรแปลกใหม่ ไม่น่าสนใจ ส่วนในเรื่องประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการส่วนใหญ่ยังไม่สมควรที่จะนำไปอ้างอิงหรือเผยแพร่เป็นผลงานทางวิชาการ...ท่านว่าของท่านไว้อย่างนั้น
ในส่วนของตัวผู้เขียนนั้นยังเคยโดนเพื่อนครูด้วยกันสบประมาท...มากับตัวเองเลยว่า...มีครูจำนวนไม่น้อยที่ยังหาค่า S.D. ค่า T-test ไม่เป็นเลย (ที่จริงเขาไม่ได้สบประมาทหรอกเพราะมันก็จริงเหมือนที่เขาพูด)...เพราะผู้เขียนเองก็คิดไม่ได้ ทำไม่เป็นในตรงนั้นจริงๆ ถึงกระนั้นพอได้ยินก็ยังถึงกับอึ้งไปเลย...เออ!!! มันก็จริงของเขานี่หว่า??? แต่ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูก็ทำให้ฉุกคิดได้ว่า ก็ในเมื่อไม่รู้ ในเมื่อไม่เป็น แต่มันจำเป็นจะต้องใช้ มันก็น่าจะมีวิธีการเรียนรู้ได้นะ...คิดได้ดังนั้นก็ไปเลย...มีอบรมที่ไหนพอไปได้ ไม่ไกลจากบ้านจนเกินไป...ครูสุทธิพรไปหมดเพราะอยากจะทำได้ อยากจะทำเป็น...วิทยากรก็แนะนำสูตรนั้นสูตรนี้ดีเหลือหลาย แต่ครูสุทธิพรก็ยังไม่กระจ่างซักที...มีปัญหาซะแล้ว เริ่มมีความเครียด วิตก กังวล เพราะไม่ว่าจะเป็นการวิจัยในชั้นเรียน หรือการรายงานการใช้สื่อ/นวัตกรรม มันก็มักจะมีปัญหาในส่วนของบทที่ 3 บทที่4 และบทที่5 เพราะมันยากอย่าว่าแต่ผู้เขียนเองเลยลองสอบถามเพื่อนครูหลายๆ คน ก็ไม่ถนัด ไม่เข้าใจเหมือนกัน (แต่ก็ดีใจที่มีเพื่อน) ส่วนบทที่1 และ2 นั้นไม่มีปัญหา แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งเหมือนโชคชะตา...ฟ้าลิขิต.........(พูดเหมือนหนังจีนกำลังภายในเลยเน๊าะ) ผู้เขียนก็ได้พบกับหนทางที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง (คิดว่ายังงั้นนะ) จากนี้ไปเราจะมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน...เพราะความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น คุณครูของผู้เขียนเคยพูดไว้เมื่อ 28 ปีที่ผ่านมาว่า...สุทธิพร...ใฝ่ร้อนจะนอนเย็น ใฝ่เย็นจะดิ้นตาย ลำบากก่อนจะสบายเมื่อปลายมือ...ลองอ่านดูนะครับว่าปัญหาของคุณครูเหมือนกับปัญหาของผู้เขียนหรือไม่???
ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน หรือการจัดทำผลงานทางวิชาการก็ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล มีการใช้ค่าสถิติตัวเลขในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งวิธีการหาค่าสถิติของคุณครูแต่ละคนก็แตกต่างกันไป...บางคนคิดเองคำนวณโดยใช้เครื่องคิดเลข บางคนก็อาศัยไหว้วานเพื่อนครูที่มีความรอบรู้ทางด้านนี้ทำให้ บางคนใช้โปรแกรม Excel และอีกบางคนก็ใช้โปรแกรม SPSS หรือวิธีการอื่นใดนอกเหนือจากที่กล่าวมาก็ว่ากันไปตามความต้องการและตามความถนัดซึ่งถือว่าเป็นความสามารถของแต่ละบุคคล...เท่าที่ผู้เขียนได้ศึกษาก็พบว่าค่าสถติที่จำเป็นที่จะต้องใช้จริงๆ ก็จะมีการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( S.D. ) และค่าที (T-test) ซึ่งเป็นการทดสอบเพื่อเปรียบเทียบผลความแตกต่างระหว่างคะแนนทดสอบก่อนเรียน (Pre-test) และคะแนนทดสอบหลังเรียน(Post-test)
นอกจากนั้นก็ยังมีการใช้สถิติกับการรายงานการใช้สื่อการเรียนการสอน นวัตกรรมต่างๆ เช่น เอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้ (เดิมเรียกว่าเอกสารประกอบการสอน) บทเรียนสำเร็จรูป โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) แบบฝึกทักษะ ชุดฝึกต่างๆ ฯลฯ ที่คุณครูสร้างขึ้น เพื่อหาประสิทธิภาพของสื่อการใช้มาตรฐานร้อยละของกิจกรรมต่อร้อยละของคะแนนทดสอบหลังเรียนโดยใช้สูตร E1 / E2 ซึ่งในการกำหนดเกณฑ์ก็จะต้องคำนึงถึงกระบวนการและผลลัพธ์ โดยกำหนดตัวเลขเป็นร้อยละของคะแนนเฉลี่ยซึ่งมีค่าเป็น E1 / E2
E1 หมายถึง ค่าประสิทธิภาพของกระบวนการคิดเป็นร้อยละของคะแนนเฉลี่ยจากการทำแบบฝึกหัดและการประกอบกิจกรรม
E2 หมายถึง ค่าประสิทธิภาพของผลลัพธ์หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในตัวผู้เรียนหลังเรียน คิดเป็นร้อยละของคะแนนทดสอบหลังเรียน
การที่จะกำหนดว่าค่า E1 / E2 มีค่าเท่าใดนั้นแล้วแต่ผู้ผลิตสื่อซึ่งก็คือตัวของคุณครูเองจะต้องพิจารณา ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะธรรมชาติของวิชา เช่น วิชาที่มีลักษณะเป็นเนื้อหาความรู้ ความจำ อาจจะกำหนดเกณฑ์ E1 / E2 ที่ระดับ 80/80 ถึง 90/90 ส่วนวิชาที่เน้นทักษะปฏิบัติอาจจะกำหนดที่ระดับ 75/75 ขึ้นไป
จะเห็นได้ว่าสูตรการหาค่าสถิติที่ใช้กันจริงๆ และใช้กันมากก็ดังที่กล่าวมา ซึ่งก็จะเป็น “เรื่องง่าย” สำหรับคนที่รู้และคำนวณเป็น พูดง่ายๆ ว่าเก่งทางด้านสถิติว่างั้นเถอะ แต่ถ้าคนที่ไม่รู้มันก็จะเป็น “เรื่องยาก” หรือ “ยากมาก” เรียกว่า “มืดแปดด้าน” พาลไม่อยากทำวิจัยในชั้นเรียนหรือไม่อยากพัฒนาผลงานทางวิชาการ เรียกว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากันไปเลยก็มี เรื่องดังกล่าวเคยเป็นปัญหาของตัวผู้เขียนเอง...คือคิดไม่ได้...ทำไม่เป็น ก็อาศัยความมานะพยายามจนมาถึงวันนี้ ไอ้ที่เขาบอกว่าปอกกล้วย (ดิบ)...เข้าปากยังยากกว่า เห็นท่าว่าเป็นเรื่องจริง...ไม่ต้องอาศัยเทคนิควิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อน ประหยัดเวลาแรงงานและมันสมอง ไม่ต้องให้ใครทำให้ เกิดความภาคภูมิใจ ดังที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้ามัวแต่เดินตามรอยเท้าผู้อื่น แล้วเมื่อไรจะมีรอยเท้าเป็นของตนเอง” ตนแลเป็นที่พึงแห่งตน...ร่วมแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กันและกัน มีปัญหาคิดอะไรไม่ออก “ครูบ้านนอก” คนนี้ขอเป็นกำลังใจให้และยินดีที่จะเป็นเพื่อนกับคุณครูผู้ร่วมอาชีพทุกคน ลองอ่านบทความใน Blog เรื่องราวดีๆที่นายสุทธิพร คล้ายเมืองปัก...เป็นคนเขียน ที่อยู่ทางด้านซ้ายมือของคุณครูดูนะครับ...เผื่อว่าจะพอมีประโยชน์อยู่บ้าง…
ด้วยความรักและปรารถนาดี
--------------------------------------------------------------
นายสุทธิพร คล้ายเมืองปัก
โรงเรียนบ้านไพล สพท.นครราชสีมา เขต 7
ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ที่เบอร์นี้ 084-0396633
E-mail มาคุยกันได้ที่ Klaymuangpak@hotmail.com
อดีต อาจารย์ 3 ระดับ 7-8 (เมื่อปี พ.ศ.2545)
ปัจจุบัน ครูชำนาญการพิเศษ (ส่งผลงานขอเลื่อนวิทยฐานะเป็นครูเชี่ยวชาญ...ตอนนี้กำลังรอความหวังจากคณะกรรมการผู้ใจดีและมีเมตตาตรวจผลงานอยู่...ครับผม)
|