ชื่อเรื่อง รายงานการวิจัย เรื่อง ปัญหาในการอ่านของนักเรียน และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของครูช่วงชั้นที่ ๓
โรงเรียนบ้านขี้เหล็กซ้ายดอนแตง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด เขต ๒
ผู้วิจัย นายจำนงค์ จันทร์ดำ
สถาบัน โรงเรียนบ้านขี้เหล็กซ้ายดอนแตง
ปีที่พิมพ์ ๒๕๔๙
บทคัดย่อ
การวิจัยสภาพการอ่านของนักเรียน และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน ของครูผู้สอน ช่วงชั้นที่ ๓ โรงเรียนบ้านขี้เหล็กซ้ายดอนแตง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด
เขต ๒ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาสิ่งที่ค้นพบเกี่ยวกับความสนใจ และพฤติกรรมการอ่านของนักเรียนช่วงชั้นที่ ๓ ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน ของครูผู้สอนช่วงชั้นที่ ๓ โดยการใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๓ จำนวน ๔๗ คน และครูผู้สอนช่วงชั้นที่ ๓ จำนวน ๖ คน การวิเคาระห์ข้อมูลใช้วิธีหาค่าร้อยละจากตาราง ซึ่งมีผลดังนี้
๑. สภาพการอ่านของนักเรียนช่วงชั้นที่ ๓ ส่วนใหญ่สนใจการอ่าน ร้อยละ ๖๕.๙๖ โดยมีเหตุผลในการอ่าน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ อ่านแล้วได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน
ให้ความรู้เพิ่มขึ้น และเป็นคนทันสมัย ส่วนหนังสือที่นักเรียนช่วงชั้นที่ ๓ ชอบอ่านมากที่สุด คือ
การ์ตูน นิทาน หนังสือพิมพ์ หนังสือเรียน และนวนิยาย เรื่องสั้น หนังสือที่อ่านในชีวิตประจำวัน ได้แก่หนังสือเรียน การ์ตูน นิทาน และหนังสือพิมพ์ สถานที่ที่นักเรียนชอบใช้อ่านหนังสือ
มากที่สุด คือ มุมหนังสือห้องภาษาไทย ห้องสมุดโรงเรียน และม้าหินอ่อนหน้าอาคารเรียน ช่วงเวลาที่นักเรียนชอบอ่านหนังสือมากที่สุด คือ เมื่อมีเวลาว่าง ตอนเย็น และตอนกลางวัน อุปสรรคในการอ่านหนังสือของนักเรียนช่วงชั้นที่ ๓ ได้แก่ หนังสือมีไม่เพียงพอ สื่ออย่างอื่นน่าสนใจกว่า มีงานมากเกินไปและไม่มีหนังสือที่ชอบ สิ่งที่นักเรียนชอบทำเมื่อมีเวลาว่าง คือ ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง เล่นเกม และเล่นกีฬา
๒. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของครูช่วงชั้นที่ ๓ ส่วนใหญ่มีการจัดเป็นประจำ กิจกรรมที่จัดขึ้นเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ คือ กิจกรรมอ่านทุกวัน บันทึกทุกที กิจกรรมตู้อาหารสมอง ลองเปิดอ่านดู กิจกรรมหนูคนสวย ร่ำรวยภาษา และกิจกรรม
คลื่นเสียงใส หัวใจนักอ่าน ส่วนปัญหาและอุปสรรคของครูช่วงชั้นที่ ๓ ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านมากที่สุด ได้แก่ ขาดงบประมาณ รองลงมาคือ ไม่มีเวลา และขาดวัสดุอุปกรณ์
ในเรื่องการมอบหมายให้นักเรียนไปศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากห้องสมุดโรงเรียน ส่วนใหญ่ครูทำแต่ค่อนข้างมีระยะห่างคือประมาณ ๒ สัปดาห์ - ๑ เดือน ต่อครั้ง
๓. ผู้ปกครองให้ความสนใจการอ่านของนักเรียนขณะอยู่ที่บ้านค่อนข้างน้อย ไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านร่วมกันบ่อยนัก ขาดการแนะนำที่ดีในการอ่าน ขาดแหล่งเรียนรู้และสื่อเกี่ยวกับการอ่านที่ดี