เมื่อ“ครูบ้านนอก”ขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะ...ทุกๆ ฝ่ายก็มีแต่ได้กับได้มิใช่หรือ???
ก็จะไม่ให้พูดอย่างนั้นได้อย่างไรเพราะเป็นการพัฒนาที่จะเกิดผลกับบุคคลหลายฝ่าย เช่น ถ้าไม่โกหกตัวเองจนเกินไปได้ตัวแรกก็คือ ตัวครูเองได้(ข้อนี้สำคัญมาก) ตัวต่อมาเด็กก็ได้เพราะครูจะต้องมีการพัฒนา มีการใช้สื่อ/นวัตกรรมที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ได้ต่อมาอีกก็คือการศึกษาของชาติโดยรวม จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า “ไม่มีใครเสีย” ก็ถึงได้บอกว่ามีแต่ได้กับได้ ทางตรงข้ามเมื่อครูพัฒนาผลงานทางวิชาการแล้วส่งเข้ารับการประเมินจะเพื่อขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะก็ตามที ถ้าผลงานไม่ได้รับการอนุมัติ ไม่ผ่านหรือที่เรียกแบบบัวช้ำน้ำขุ่นคือ “ตก” (เหมือนกับที่เป็นกระแสข่าวอยู่ ณ เวลานี้)ตรงนี้แหละครับคุณผู้อ่าน เสียแน่ๆ เสียตัวแรกก็คือคุณครูผู้นั้นจะ “เสียขวัญ” “เสียดาย” “เสียกำลังใจ” หรืออาจจะเลยเถิดไปจนถึง “เสียหน้า” ด้วยก็เป็นได้ เมื่อครูเสียหลายสิ่งหลายอย่างขนาดนี้ผมมีความคิดว่าก็คงไม่มีจิตใจที่จะพัฒนาเด็กเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นแน่แท้...เพื่อนครูบ้านนอกทุกคนครับ...รวมทั้งครูในเมืองด้วยนั่นแหละนะ ถ้าเราจะล้มเพราะก้าวไปข้างหน้า ผมว่ามันยังดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่นะครับ... สู้ใหม่...พัฒนางานใหม่ครับคุณครู ถ้ายังไม่รู้ ไม่ชัดเจน เราก็ถามเพื่อนเราที่เขารู้ก็ได้นี่...ขอแค่มีความพยายามเท่านั้น คิดเสียว่า “อุปสรรคคือความสำเร็จที่ปลอมตัวมา” และความสดใสมักจะมาหลังเมฆหมอกเสมอ...ครับ ...ผมคนนึงแหละที่ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนครูทุกคน
ผลงานทางวิชาการที่เหมาะสำหรับครูเราที่จะใช้พัฒนาตนเองทั้งเพื่อการขอมี...ขอเลื่อนวิทยฐานะ หรือเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติก็ตามที ที่เห็นว่าน่าจะง่ายและตรงกับคุณครูทุกคน...ย้ำว่า “ทุกคน” เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องมี ต้องจัดหา จัดเตรียมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว เช่น เอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้ หรือที่เมื่อก่อนเรียกว่าเอกสารประกอบการสอนนั่นแหละ...ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะทำยังไง ก็ลองนึกถึงเอกสารประกอบการสอนทางไกลของ มสธ.ก็แล้วกัน ชัดเจนดีเพราะจะประกอบไปทั้ง ใบความรู้ แบบทดสอบก่อนเรียน หลังเรียน แบบฝึก แบบฝึกหัด เนื้อหา โดยจัดเป็นหน่วยๆ ไป ทั้งนี้เราก็มาหาแนวทางปรับให้มันเข้ากับยุคสมัย เข้ากับตัวเราเอง เข้ากับบริบทของโรงเรียน และที่สำคัญในการทำผลงานทางวิชาการนั้นสิ่งที่จะทิ้งไม่ได้เลยก็คือ “แผนการจัดการเรียนรู้” ถึงแม้ว่าจะไม่นับให้เป็นผลงานทางวิชาการก็ตามที เพราะแผนการจัดการเรียนรู้จะเป็นตัวชี้หรือแสดงให้เห็นถึงอะไรต่อมิอะไรหลายๆ อย่าง เป็นต้นว่า แสดงให้เห็นถึงเทคนิควิธีการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การใช้สื่อ/นวัตกรรม การวัดและประเมินผล ผลงานทางวิชาการมันก็จะออกมาจากส่วนที่ขีดเส้นใต้นี่หละครับ ทีนี้เราค่อยมาเลือกว่าจะทำผลงานลักษณะใดจึงจะเหมาะกับเราซึ่งจะเป็นผู้ทำ เหมาะกับเด็กที่จะเป็นผู้ใช้ เหมาะสมกับวัยของเด็ก และเหมาะสมกับธรรมชาติวิชานั้นๆ
ถึงตรงนี้แล้วผู้อ่านคงมองเห็นลางๆ แล้วนะครับ ทีนี้ถ้าอยากให้มันชัดขึ้นก็เปิดหลักสูตร เปิดคู่มือการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระที่คุณครูสอน ไล่เรียงไปในรายละเอียดของแต่ละสาระที่อธิบายไว้ ก็น่าจะมองเห็น “งาน” ที่จะทำเป็นผลงานทางวิชาการแล้วนะครับ
เอาเป็นว่าตรงนี้ถือเป็น...ภาคที่ 1 ก็แล้วกันเน๊าะ...แล้วโอกาสหน้าจะมาใหม่ หรือว่าคุณครูคนใดอยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ยินดีครับ…หรือจะอ่านบทความจาก Blog ด้านซ้ายมือไปพลางๆ ก่อนก็ได้นะ
ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อเพื่อนครูผู้ร่วมอาชีพทุกคน
นายสุทธิพร คล้ายเมืองปัก
โรงเรียนบ้านไพล สพท.นครราชสีมา เขต 7
โทรศัพท์ 084-0396633
E-mail มาคุยกันได้ที่ Klaymuangpak@hotmail.com
***********************************************************