13 วิธี ...... เข้าให้ถึงลูกวัยรุ่น
นักจิตวิทยาต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าวัยรุ่นยังคงต้องการพ่อแม่อยู่แต่เป็นไปใน รูปแบบของเขาเองซึ่งจะไม่มากเท่าตอนที่เขาเป็นเด็ก พ้องกับการสำรวจความเห็นของวัยรุ่นที่ส่วนใหญ่ยังคงเห็นว่า พ่อแม่คือเพื่อนที่ดีที่สุด (ดีใจได้) เพียงแต่…คุณต้องปรับเปลี่ยนท่าทีเสียใหม่ เพื่อเข้าให้ถึงโลกที่พวกเขาอยู่ อะไรที่เคยใช้ได้ผล อาจถึงเวลาเก็บใส่กรุได้แล้ว
๑.จงฟัง…ฟัง…และฟัง
เป็นเคล็ดลับสำคัญข้อแรกที่พ่อแม่ต้องท่องให้ขึ้นใจ การฟังจะทำให้คุณเข้าใจโลกวัยรุ่น เข้าใจ ความคิด ความฝัน ความรู้สึก ตลอดจน ความหวาดกลัว ของพวกเขา รู้ไหมครับว่า วัยรุ่นปรารถนาพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ฟังที่ดีอย่างที่สุด และสิ่งที่เขาเกลียดที่สุดก็คือ การถูกค่อนขอด สั่งสอน ตัดสิน ซักไซ้ไล่เรียง และวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ โดยที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็มักเป็นอย่างนี้แหละ (อย่าปฏิเสธน่า…) ในวันหนึ่ง ๆ คุณควรมีเวลาพูดคุยกับลูก (ขอย้ำว่าคุณเป็นฝ่ายฟัง) แม้ว่าจะเพียงไม่กี่นาทีก็ตาม และอย่างน้อย ในหนึ่งอาทิตย์ควรมีเวลาได้รับฟังลูกยาวๆ สักครั้ง โดยที่ไม่มีเสียงทีวีและโทรศัพท์รบกวน นี่เป็นโอกาสดีที่คุณจะได้รู้จักลูกซึ่งกำลังก้าวสู่บันไดอีกขั้นของชีวิต
๒.เลี่ยงคำว่า “ไม่”
เมื่อลูกมาขออนุญาตทำในสิ่งที่พ่อแม่ไม่มั่นใจนัก เช่น ไปต่างจังหวัด ควรใช้คำพูดว่า“แม่ (พ่อ) ขอเวลาคิดก่อนนะ” หรือ“แม่ (พ่อ) ต้องหาข้อมูลก่อนตัดสินใจมากกว่านี้อีกสักหน่อย” และระหว่างนั้นจงใช้เวลาคิดใคร่ครวญหรือหาข้อมูล ดี ไม่ดีลูกอาจหมดความสนใจกับกิจกรรมนั้นไปแล้วก็ได้ คุณจะพบว่าตัวเองพูดคำว่า “ไม่” น้อยลงเป็นอย่างมาก และที่สุดแล้ว ถ้าหัวเด็ดตีนขาด คุณจะไม่ยอมให้ลูกทำในสิ่งที่ขอลองอธิบายด้วยคำพูดแบบนี้ดู“ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ไม่เชื่อมั่นในตัวลูกนะจ๊ะ แต่ไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์ที่ลูกจะไปเจอต่างหาก”
๓.ใช้เวลาในรถอย่างมีค่า
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ในรถเป็นสถานที่เยี่ยมยอดสำหรับพูดคุยกับวัยรุ่น เพราะไม่ต้องสบตากันมาก ระหว่างทางไปโรงเรียน กลับบ้าน หรือไปทำกิจกรรมใดๆ ลองเปิดประเด็นคุยกับลูกถึงเรื่องต่างๆ (อย่างเป็นธรรมชาติ)
๔.สร้างความตื่นเต้นให้กับชีวิต
วัยรุ่นมีพลังงานอย่างล้นเหลือที่จะทำสิ่งต่างๆ และชอบเลี่ยง ถ้าอยากต่อกับลูกให้ติด คุณต้องสร้างความตื่นเต้นให้แก่เขา พาเขาไปทำอะไร ๆ ที่น่าตื่นเต้นบ้างเป็นบางครั้ง เช่น ไปเดินป่า ไปเที่ยวกลางคืน หรือโดดบันจี้จัมพ์ วิธีแบบนี้จะทำให้พวกเขาอยากใกล้ชิดกับคุณมากขึ้น ก็ใครจะอยากอยู่กับตาแก่ยายแก่เชยๆ ล่ะ…จริงมั้ย
๕.วิธีแบบละมุนละไม
อาจมีบางครั้งที่ลูกกลับบ้านผิดเวลาหรือดึกจนทำให้คุณเป็นห่วง อย่าใช้คำพูดว่า “ไปไหนมา” หรือ “ลูกกลับช้าไป ๕ นาที” หรือบ่นกระปอดกระแปด เพราะผลที่ตามมาก็คือ เขาจะหนีเข้าไปในห้องนอนทางที่ดี คุณควรแสดงออกถึงความห่วงใยอย่างละมุนละไม อาจหานมอุ่น ๆ ให้เขาสักแก้ว และเดินไปส่งที่ห้องนอน
๖. ชวนลูกดูหนัง
เลือกหนังครอบครัวดีๆ สักเรื่อง และไปดูด้วยกัน เมื่อดูจบชวนเขาพูดคุยและวิพากษ์เรื่องราวในนั้น อาจเป็นประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ การหย่าร้าง ความสูญเสียจะทำให้คุณรู้จักมุมมองของลูกดียิ่งขึ้น
๗.ใช้ดนตรีเป็นสื่อ
วัยรุ่นส่วนใหญ่รักเสียงเพลง ลองนั่งฟังและดูรายการเพลงกับลูก อาจได้พบว่าคุณและลูกต่างชื่นชอบเพลงเพลงเดียวกัน ลูกอาจชอบบางเพลงของสุนทราภรณ์ และคุณอาจชอบบางเพลงของ บริดนีย์ สเปียร์ โลโซ บาซู หรือไม่ก็ บูโดกัน ก็เป็นได้ ดนตรีจะเป็นสื่อที่เชื่อมคุณกับลูกได้ดีทางหนึ่ง
๘.เข้าไปในโลกของวัยรุ่น
ลองไปเดินช้อปปิ้งกับลูก คุณจะได้เห็นว่าโลกของวัยรุ่นไปถึงไหนกันแล้ว อ้อ…อย่าสับสนล่ะ พ่อแม่ไปช้อปปิ้งกับลูกกับลูกไปช้อปปิ้งกับพ่อแม่นี่ต่างกันลิบลับเลยไม่ก็ลองไปดูคอนเสิร์ตกับเขาบ้าง หรือถามถึงอะไรที่กำลังฮอตฮิตในหมู่วัยรุ่น เช่น เทคนิคการเล่นสเกตบอร์ด หรือสูตรเกมที่ลูกชอบเล่น แต่คุณต้องทำอย่างจริงใจและเปิดใจอย่างแท้จริง
๙.เตรียมตัวและเตรียมใจไว้ให้พร้อม
วัยรุ่นอาจมีเรื่องให้คุณช็อกได้ตลอดเวลา นั่งทำงานอยู่ดีๆ อาจมีโทรศัพท์ด่วนมาถึงคุณ นั่นแปลว่าถึงเวลาแล้วที่คุณต้องเป็นที่พึ่งให้กับเขา
๑๐.กิจกรรมด้วยกันเสมอๆ
ไม่ว่าจะเป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าง จัดชั้นหนังสือ ทำอาหาร ก็มีค่าทั้งนั้น จำไว้ว่าบางครั้งเวลาที่ดีที่สุดก็เกิดขึ้นโดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อยและไม่ได้ตั้งใจ
๑๑.ทำให้เขารู้สึกว่า เขาคือส่วนหนึ่งในชีวิตคุณ
คุยกับเขาถึงงาน แผนการใช้ชีวิต และเรื่องของคุณให้เขาฟังบ้าง แทนที่จะเอาเรื่องของเขามาเป็นประเด็นอย่างเดียวเป็นการเปิดโอกาสให้เขารู้จักคุณในมุมที่หลากหลาย ที่สำคัญอย่าลืมบอกเขาด้วยว่าถ้าต้องการคุณ เขาจะตามตัวคุณได้ยังไง
๑๒.แสดงออกซึ่งความรัก
อาจจะโอบกอดขณะที่อยู่กันสองต่อสอง (อย่าทำต่อหน้าคนเยอะๆ เชียว) บอกรักเขาในโอกาสพิเศษหรือเอาผลงานของเขามาติดโชว์ไว้ในบ้านและเป็นเรื่องธรรมดา ที่คุณกับลูกจะมีเรื่องไม่ลงรอยกันและมีปากเสียงกัน ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิด ไม่แปลกหรอกที่จะเอ่ยปากขอโทษลูกก่อน หรือไม่ก็เขียนโน้ตน่ารักๆ สักแผ่นวางไว้บนเตียงเขา
๑๓. รู้จักถอย
ควรรู้ว่าเมื่อไรลูกต้องการพ่อแม่ และเมื่อไรที่ไม่ กับบางเรื่องของวัยรุ่น คุณควรถอยห่างออกมาสักก้าวสองก้าว ไม่ควรเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการกับเรื่องส่วนตัวของเขามากเกินไปนัก ที่สำคัญคือ คุณต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกันและคุณนั่นแหละที่ต้องเป็นคนหาและเลือกใช้วิธีการให้เหมาะสมเพื่อให้ลูกยอมแง้มบานประตูรับคุณเข้าสู่โลกของเขา