Advertisement
หลอดเลือดสมองตีบตัน 'วูบเดียวเดี้ยง!'
'วูบเดียวเดี้ยง!' คนไทยรุ่นใหม่เสี่ยงสูง!
จากรายงานของสมาคมที่เกี่ยวกับโรคนี้โดยเฉพาะของประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมาพบว่า... ผู้หญิงในสหรัฐ เฉลี่ย 1 ใน 2.6 คน เสียชีวิตจากโรคนี้ คิดเป็นอัตราส่วน 61% ซึ่งมากกว่าผู้ชาย ที่คิดเป็น 39% และผู้หญิงที่ผิวดำมีโอกาสในการเสียชีวิตจากโรคนี้อย่างมีนัยสำคัญมากกว่าผู้หญิงผิวขาว
และจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า... ผู้หญิงอายุ 45-54 ปี มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 2 เท่า โดยผู้ชายมักจะเป็นโรคนี้จากสาเหตุความดันโลหิตสูง แต่ในผู้หญิงนั้นนอกจากปัจจัยความดันโลหิตสูงแล้ว ยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งแม้แต่การนอนสระผมบนเตียงสระผมโดยแหงนคอมากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุได้
โรคที่ว่ามาข้างต้นคือ “โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน”
ที่ขนาดคนอเมริกันยังกลัว...และคนไทยก็ควรกลัว !!
ทั้งนี้ อาการ แขนขาอ่อนแรง พูดผิดปกติ ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ วิงเวียน ยืนไม่อยู่ เหล่านี้คือ “สัญญาณอันตราย” ที่เตือนว่าอาจจะเป็นโรค “หลอด เลือดสมองตีบตัน” ซึ่งถ้าเป็น ผลที่ตามมานั้นอย่างเบาหน่อยก็ “อัมพฤกษ์” หนักขึ้นอีกก็ “อัมพาต” และอาจส่งผลต่อเนื่องให้หนักมากจนถึงขั้น “เสียชีวิต” ได้ !!
โรคนี้แม้แต่ในสหรัฐที่การแพทย์ก้าวหน้ามาก ผู้คนก็ยังกลัวกัน ซึ่งก็อย่างที่ระบุในตอนต้นว่าแม้แต่การนอนสระผมบนเตียงสระผมก็อาจทำให้เป็นโรคนี้ได้ จากการที่นอนแหงนคอมากเกินไปจนทำให้เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองเกิดฉีกขาด หรืออาจจะเป็นโรคนี้จากการจัดการกระดูกคออย่างแรงจนเส้นเลือดแดงถูกกระดูกหนีบ
อย่างไรก็ตาม นอกจากต่างชาติ นอกจากชาวอเมริกัน กับคนไทยเรานับวันก็จะยิ่งเสี่ยงกับโรคนี้เช่นกัน อันเนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบไปเสียทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องอาหารการกิน การกินอาหารฟาสต์ฟู้ด ทำให้อ้วน การไม่มีเวลาหรือไม่ใส่ใจออกกำลังกาย ประกอบกับความเครียดจากวิถีชีวิตที่ต้องแข่งขันสูง
“เมื่อมีสัญญาณอันตรายที่เตือนว่าอาจเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน อย่าได้ชะล่าใจ รีบไปพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนทันที ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี หากถึงมือแพทย์ช้าอาจเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตตลอดชีวิต” ...เป็นคำเตือนจาก นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล ผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมกันนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังให้ความรู้ความเข้าใจด้วยว่า... โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือสโตรค (Stroke) นี้เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะมีการอุดตันของเส้นเลือดที่นำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้เนื้อสมองเสียหายจนอยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้
อาการเบื้องต้นของโรคหลอดเลือดสมองตีบตันที่พบบ่อย ได้แก่ แขน ขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก ตาพร่ามัวเห็นภาพซ้อน หน้าเบี้ยว พูดลำบาก กลืนลำบาก ฟังไม่เข้าใจ เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี เดินเซ ปวดศีรษะ บางครั้งจะปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งอาจแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะหลายอย่างพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มักเริ่มจากแขนขาอ่อนแรง หรือชาบริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น มีปัญหาด้านการพูดหรือการเข้าใจบทสนทนา ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการวิงเวียนหรือ “วูบแบบเฉียบพลัน” ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น แทนที่จะโทรศัพท์บอกคนในครอบครัว ควรจะเปลี่ยนเป็นติดต่อแพทย์ฉุกเฉินทันที เพราะ “ความแตกต่างระหว่างรายที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต กับรายที่มีอาการ ไม่รุนแรงนัก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยถึงมือแพทย์ได้เร็วเพียงใดเพียงอย่างเดียวเท่า นั้น !!”
ผอ.ศูนย์สมองและระบบประสาท ให้ความรู้ความเข้าใจต่อไปว่า... โรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตเป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันในไทยพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้สูงขึ้น เรื่อย ๆ เนื่องจากวิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป จากปัจจัย อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ป่วยมักมีอาการทันทีทันใด แต่ใช้เวลาฟื้นตัวนาน ซึ่งถ้าได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วตั้งแต่แรกจะสามารถลดอัตราการตายและพิการลงได้มาก สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้
โรคหลอดเลือดสมองนี้ “ไม่แก่ก็มีสิทธิเป็นได้” ในผู้หญิงมักจะเกิด กับผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ไขมันในเลือดสูง เป็นโรคหัวใจ อาทิ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจตีบ เคยป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบมาก่อนซึ่งมีโอกาสในการเกิดโรคซ้ำ 10% ใน 1 ปีแรก สูบบุหรี่ มีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน เคยรับประทานยาคุมกำเนิด ยังเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอีกโรคด้วย
ทั้งนี้ ในการรักษานั้นสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การอภิบาลผู้ป่วยเพื่อไม่ให้โรคลุกลาม และไม่เกิดโรคซ้ำอีก ซึ่งต้องมีการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม โดยเน้นการป้องกันการเกิดซ้ำ และฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วย โดยให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลและประคับประคอง อย่างไรก็ตาม กับคนทั่ว ๆ ไป “ดีที่สุดก็ย่อมเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค”
“การป้องกันนั้นจะต้องใช้ชีวิตแบบใส่ใจสุขภาพ เช่น ควบคุมความดันโลหิต ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และหมั่นตรวจสุขภาพ เป็นประจำ ก็จะลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองได้” ...นพ.ชาญพงค์แนะนำ
ชั่วโมงนี้คนไทยส่วนใหญ่กำลังกลัวโรคหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่
แต่จริง ๆ แล้ววิถีชีวิตคนไทยยุคใหม่ทำให้เสี่ยงหลายโรค
และกับโรคเก่า “วูบเดียวเดี้ยง !!” ก็อย่าได้มองข้าม !!.
ขอบคุณที่มาข้อมูลwww.thaiza.com
|
วันที่ 24 ธ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,157 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,159 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,179 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,166 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 34,947 ครั้ง |
เปิดอ่าน 1,821 ครั้ง |
เปิดอ่าน 41,639 ครั้ง |
เปิดอ่าน 18,253 ครั้ง |
เปิดอ่าน 32,930 ครั้ง |
|
|