ปัจจุบันเทคโนโลยีนับวันที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทกับการดำรงชีวิตของมวลมนุษยชาติกันมากขึ้น ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ(ที่มีอยู่อย่างจำกัด) มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในภาวะที่เกินกว่าจะควบคุมความสมดุลไว้ได้และส่งผลให้เกิดภาวะวิกฤติ ต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ฝนแล้ง ลมพายุ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของโลกเกิดปฏิกริยาเรือนกระจก (Green House Effect) ด้วยเหตุนี้ “โรงเรียน” จึงควรจะมีบทบาทในการใช้ทรัพยากร อย่างชาญฉลาด มีประสิทธิภาพ ช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นและควรเป็นแบบอย่างในการรักษากฎความสมดุล ของระบบนิเวศน์ โดยหันมาสนใจ ใส่ใจ ร่วมกันปลูกฝังเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ให้มีจิตสำนึกมีความตระหนักในเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถช่วยให้สภาพแวด-ล้อมดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วทันตาเห็น แต่.......วันนี้ยังไม่สายที่จะเริ่มต้นอย่าง จริงๆจังๆ ด้วยการใช้หลักการ 1A3R ดังต่อไปนี้
A = (AVOID) หมายถึงการหลีกเลี่ยงหรืองดการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยกันเสียที เช่นการงดใช้วัสดุ สิ้นเปลือง หรือสิ่งของที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่างกล่องโฟมบรรจุอาหาร เพราะการที่จะได้มา ซึ่งบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ต้องใช้พลังงานในการผลิตมากมายมหาศาล และเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก การไม่ใช้ ของใช้ที่ได้มาจากป่า เพราะหากมีผู้ต้องการใช้ แน่นอน.....ย่อมมีผู้จัดหามาจำหน่ายนั่นก็หมายความว่า เป็นการ ส่งเสริมให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงสิ่งของเครื่องใช้ที่มี สารCFC. (Chlorofluorocarbon) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ทางเคมี บางชนิดเป็นสารที่ทำให้เกิดการขับดัน ในกระป๋องสเปรย์ เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำหอมชนิดสเปรย์และอื่นๆ หากมีความจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ชนิดที่เป็น Non CFC / No CFC / หรือที่มีฉลาก Safe Earth ติดอยู่ ก็จะเป็นการ ช่วยลดมลพิษ ที่จะเกิดกับโลกใบนี้ได้
R = (REDUCE) คือการลดปริมาณการใช้วัสดุสิ่งของต่างๆ ที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวผลิต ให้น้อยลง การใช้อย่างประหยัดและรู้คุณค่าหรือใช้เท่าที่มีความจำเป็น เช่นไฟฟ้า เพราะหากมีการใช้มากก็ต้องมีการผลิตมาก เมื่อผลิตมากก็ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติมากตามไปด้วย ซึ่งการผลิตกระแสไฟฟ้า อาจจะใช้พลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ ก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน ถ้าหากเราลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้น้อยลงได้ก็ย่อมที่จะช่วยลดปริมาณการใช้ทรัพยากรในการผลิตให้น้อยลงเช่นกัน ซึ่งนั่นก็หมายถึงการประหยัด รายจ่ายของตนเอง ครอบครัว ประเทศชาติและช่วยรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ให้มีสภาพ ที่ดีให้คงอยู่คู่โลกไปอีกนาน
R = (REUSE) คือการนำเอาวัสดุสิ่งของที่เป็นของเก่ามาใช้ซ้ำรวมทั้งไม่ใช้หรือไม่สนับสนุน การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง เช่นการใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนการใช้ผ้าเย็นหรือกระดาษทิชชู เพราะผ้าเช็ดหน้าเมื่อสกปรกสามารถทำความสะอาดแล้วใช้ซ้ำได้ แต่กระดาษทิชชูหรือผ้าเย็นใช้ไปเพียง ครั้งเดียวก็ต้องทิ้งและต้องหาซื้อมาใช้ใหม่ ซึ่งเมื่อมีการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวมากๆก็จะทำให้เกิดมีขยะมาก ต้องมีการกำจัดขยะอาจจะเป็นด้วยการเผา และเมื่อมีการเผาสิ่งแวดล้อมก็ถูกทำลายหรือไม่ก็ฝังกลบ ซึ่งตาม ความเป็นจริงแล้วการกำจัดขยะด้วยวิธีนี้เป็นเพียงการซื้อเวลารอความหายนะที่จะตามมาเท่านั้น เพราะเป็นการ แก้ปัญหาเก่าด้วยปัญหาใหม่
R = (RECYCLE) คือการแปรรูปหรือแปรสภาพสิ่งของที่ใช้ไม่ได้แล้วและจำเป็นจะต้องทิ้ง ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่นกระป๋องบรรจุน้ำอัดลม แก้วน้ำพลาสติก ที่ความจริงเราใช้ระยะเวลา ในการดื่มเพียงเล็กน้อย ซึ่งในการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระป๋องน้ำอัดลมนั้น ในแต่ละใบต้องใช้พลังงาน ในการผลิตอย่างมากมายมหาศาล แต่ส่วนที่เหลือจากการใช้กลับกลายเป็นขยะกองโตที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อ สิ่งแวดล้อม หากในโรงเรียนซึ่งส่วนใหญ่จะมีขยะประเภทนี้อยู่มากจะได้เล็งเห็นความสำคัญ ด้วยการ แยกประเภทของขยะ นอกจากจะมีรายได้จากการจำหน่ายขยะเหล่านั้นยังจะมีส่วนช่วยให้เกิดการแปรรูป ผลิตภัณฑ์เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ นั่นก็หมายถึงการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติของประเทศและของโลกได้อีกมากโข
ผู้เขียนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “คุณครูอนุรักษ์พลังงาน” กิจกรรมเสื้อนักเรียนและรองเท้าแตะเพื่อเยาวชน ภายใต้โครงการรวมพลังหาร 2 ซึ่งเกิดจากการประสานงาน ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ร่วมกับบริษัทเอกชนและสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครราชสีมา ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมอนุรักษ์พลังงาน และมีความคาดหวังว่า “ครู” จะมีบทบาทที่สำคัญที่จะมีส่วนร่วมจุดประกาย ปลุกจิตสำนึก และสร้างนิสัยให้เยาวชน ของชาติได้เกิดความรักความหวงแหนสภาพแวดล้อมที่สดใส สวยงาม และอยากมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการสอน สอดแทรกในทุกๆกลุ่มประสบการณ์ การจัดกิจกรรมประกวด-แข่งขัน จัดนิทรรศการ หรือทำโครงงาน ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้นก็ขยายผลไปสู่ชุมชน เชื่อได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากพฤติกรรมต่างๆที่มนุษย์กระทำต่อสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้รับการ ควบคุมและแก้ไข ผลกระทบที่จะตามมาหลายๆอย่างเช่น อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นและบรรยากาศที่เปลี่ยน แปลงไป ย่อมมีผลต่อมนุษย์เป็นอันมากเช่นการผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรโลก หรือการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการละลายของภูเขาน้ำแข็ง เกิดน้ำท่วมเมืองต่างๆ การกัดเซาะ ชายฝั่ง ยิ่งระดับน้ำสูงขึ้นมากเท่าไรความเสียหายย่อมมีมากขึ้นตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจจะเป็นสาเหตุให้สิ่งมีชีวิตนานาชนิดบนโลกใบนี้สูญพันธุ์ไปได้ และนั่น..........มนุษย์ต้องรับผิดชอบใน สิ่งที่เขาร่วมกันทำขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเรา........ยังอยากจะให้วันนั้นมาถึงอยู่อีกหรือ?
ด้วยความรักและปรารถนาดี
--------------------------------------------------------------
นายสุทธิพร คล้ายเมืองปัก
โรงเรียนบ้านไพล สพท.นครราชสีมา เขต 7
ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ที่เบอร์นี้ 084-0396633
E-mail มาคุยกันได้ที่ Klaymuangpak@hotmail.com
อดีต อาจารย์ 3 ระดับ 7-8 (เมื่อปี พ.ศ.2545)
ปัจจุบัน ครูชำนาญการพิเศษ (ส่งผลงานขอเลื่อนวิทยฐานะเป็นครูเชี่ยวชาญ...ตอนนี้กำลังรอความหวังจากคณะกรรมการผู้ใจดีและมีเมตตาตรวจผลงานอยู่...ครับผม)