การยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ
แต่ละคนเป็นครูมานานแล้ว แต่ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แจ้งให้คุณครูทุกท่านทราบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 – 2555 ได้กำหนดให้ดำเนินการพัฒนาผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง โดยมีขั้นตอนและแนวทางในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้
1. การพัฒนาครูและบุคลาการทางการศึกษา ตามโครงการยกระดับคุณภาพทั้งระบบ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 – 2555 ประกอบด้วยกิจกรรม 4 กิจกรรม คือ
1.1 การจัดระบบพัฒนาสมรรถนะครูรายบุคคล
1.2 พัฒนาครูดี ครูเก่ง เพื่อเป็น Master Teacher หรือ ครูแกนนำ
1.3 ยกระดับคุณภาพครู รวมทั้งผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน
1.4 พัฒนาครูด้วยระบบ E-training
2. ขั้นตอนแรกในการพัฒนา ครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนจะได้รับการประเมินสมรรถนะ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระบบพัฒนาสมรรถนะรายบุคคลและดำเนินการพัฒนาให้เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถและศักยภาพของแต่ละคนเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสูตร โดยผลของการประเมินสมรรถนะ มิได้มีผลเสียต่อการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะ การพิจารณาความดีความชอบ รวมทั้งมิได้มีผลเสียต่อสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับแต่อย่างใด
3. ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีผลการประเมินในระดับสูง จะได้รับการพัฒนาโดยหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันอุดมศึกษา กำหนดเพื่อให้เป็นแกนนำให้กับครู ตามกลุ่มสาระ และช่วงชั้น ในเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัด
4. ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีผลการประเมินในระดับปานกลางและระดับต้น จะได้รับการพัฒนาตามหลักสูตรเพื่อยกระดับคุณภาพให้เป็นครูดี ครูเก่ง มีคุณภาพ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพแต่ละระดับ ศูนย์พัฒนาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ และครูแกนนำ
(Master Teacher ) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันอุดมศึกษาให้การสนับสนุนด้านวิชาการ
5. หลักสูตรในการประเมินสมรรถนะและการพัฒนา ประกอบด้วย 3 โมดุล
โมดุลที่ 1 ความรู้ตามเนื้อหาที่สอนรายกลุ่มสาระ
โมดุลที่ 2 สมรรถนะหลัก ประกอบด้วย การมุ่งผลสัมฤทธิ์
การบริการที่ดี การพัฒนาตนเอง และการทำงานเป็นทีม
โมดุลที่ 3 สมรรถนะประจำสายงาน ประกอบด้วย เทคนิคการสอน
การออกแบบการเรียนรู้ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
การพัฒนาผู้เรียน ห้องเรียนคุณภาพ 5 ด้าน
การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์
ในระดับประถมศึกษา เน้นในเรื่องของทักษะการอ่านคล่อง เขียนคล่องและทักษะการคิดวิเคราะห์ จึงให้ครูในระดับประถมศึกษาเลือกประเมินและพัฒนาในสาระวิชาภาษาไทยและบูรณาการ หรือคณิตศาสตร์และบูรณาการ
ส่วนในระดับปฐมวัย มัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนขยายโอกาส และมัธยมศึกษาตอนปลาย เลือกประเมินและพัฒนาตามกลุ่มสาระที่สอน
สำหรับวิธีการพัฒนาจะเป็นการพัฒนาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน จะจัดระบบให้มีการสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นและดำเนินการพัฒนาควบคู่กับการเรียนการสอนในโรงเรียน จะไม่ทำให้เกิดปัญหานำครูออกนอกห้องเรียนเพื่อไปพัฒนายังหน่วยงานภายนอก
6. ในการประเมินสมรรถนะและพัฒนา ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำลังดำเนินงานประสานกับสถาบันอุดมศึกษาและเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการจัดทำแบบประเมินและหลักสูตรที่เหมาะสมกับการยกระดับคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการประเมินสมรรถนะได้ในช่วงปลายพฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป ส่วนการพัฒนาคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนธันวาคม 2552 และปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2552 (มีนาคม – พฤษภาคม 2553)
ข้อมูลจากสพท.ชพ.1