รายงานการวิจัยฉบับย่อ
ชื่อเรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สาระการเรียนรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน
ผู้วิจัย นายบพิธ น้อยชนะ
สถานที่ปฏิบัติงาน โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก
เลขที่ 70 ถนนหน้าเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ปีที่ทำเสร็จ พ.ศ. 2551
ประเภทงานวิจัย การศึกษาเชิงทดลอง (Experimental Study)
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาแผนจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4 ที่มีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 70/70 2)เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานกับการเรียนรู้แบบปกติ 3) ประเมินความสามารถในการทำโครงงานภาษาอังกฤษของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 4) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงาน กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล สวนสนุก เป็นกลุ่มทดลอง 47 คน และกลุ่มควบคุม 48 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 เรื่อง Flowers And Plants ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามหลักการเรียนรู้แบบโครงงาน จำนวน 7 แผน 23 ชั่วโมง แผนจัดการเรียนรู้แบบปกติ สาระการเรียนรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง Flowers and Plants จำนวน 2 แผน 6 หัวเรื่อง ใช้เวลาสอน 11 ชั่วโมง แบบทดสอบเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ จำนวน 30 ข้อ แบบสำรวจความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงาน จำนวน 20 ข้อ และแบบประเมินความสามารถในการทำโครงงาน 10 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของกลุ่มทดลองและกลุ่มตัวอย่างด้วยสถิติ t-test แบบ Independent
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1. เพื่อพัฒนาแผนจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีการจัดการเรียนรู้แบบ โครงงาน ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 70/70
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานกับการเรียนรู้แบบปกติ
3. เพื่อประเมินความสามารถในการทำโครงงานภาษาอังกฤษของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
4. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงาน
วิธีดำเนินการ สามารถสรุปได้ดังนี้
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงทดลอง (Experimental Research) เพื่อพัฒนาแผนจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีการจัดการเรียนรู้แบบ โครงงาน ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 70/70 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานกับการเรียนรู้แบบปกติ เพื่อประเมินความสามารถในการทำโครงงานภาษาอังกฤษของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงาน โดยได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า แผนจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีการจัดการเรียนรู้แบบโครง ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 70/70 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการเรียนรู้ด้วยวิธีสอนแบบโครงงานสูงกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการเรียนรู้ด้วยวิธีสอนแบบปกติ โดยนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีผลการเรียนรู้หลังเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ตามเกณฑ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มี ความคิดเห็นต่อเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ อยู่ในระดับมากขึ้นไป และ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีความสามารถในการทำโครงงานวิชาภาษาอังกฤษ อยู่ในระดับดีขึ้นไป กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่กำลังเรียนใน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 กลุ่มทดลอง ได้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/5 จำนวน 47 คน สอนแบบโครงงาน และกลุ่มควบคุม ได้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 จำนวน 48 คน สอนโดยการสอนแบบปกติ เนื้อหาที่ใช้ในการทดลอง เป็นเนื้อหาที่ได้จากการวิเคราะห์เอกสาร หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2544 และหลักสูตรการศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศของโรงเรียนเทศบาลสวนสนุก ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองเพื่อการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่แผนจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่จัดการเรียนรู้แบบโครงงาน จำนวน 7 แผน แผนจัดการเรียนรู้แบบปกติ สาระการเรียนรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง Flowers and Plants จำนวน 2 แผน 6 หัวเรื่อง แบบทดสอบเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ จำนวน 30 ข้อ แบบสำรวจความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงาน จำนวน 20 ข้อ และแบบประเมินความสามารถในการทำโครงงาน 10 ข้อ ดำเนินการทดลอง โดยการทดสอบความรู้ก่อนการทดลอง สอนตามแผนจัดการเรียนรู้ในกลุ่มทดลอง 7 ครั้งละ 1 แผน ในกลุ่มควบคุม 2 แผน 6 หัวเรื่อง ประเมินพฤติกรรมกระบวนการทำงานกลุ่มหลังแผนจัดการเรียนรู้ทุกแผน ทดสอบความรู้หลังการทดลอง ประเมินความสามารถในการทำโครงงาน และให้นักเรียนกลุ่มทดลองทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงาน และ วิเคราะห์ข้อมูลโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ด้วยสถิติค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ ทดสอบความแตกต่างด้วยสถิติ t-test แบบ Independent เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
ผลการศึกษา
สามารถสรุปผลได้ดังนี้
1. ผลการพัฒนาประสิทธิภาพของแผนจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เรื่อง Flowers and Plants พบว่าร้อยละของคะแนนเฉลี่ยที่ได้จากการทำแบบทดสอบระหว่างเรียนมีค่าเท่ากับ 72.93 และร้อยละของคะแนนเฉลี่ยที่ได้จากการทำแบบทดสอบหลังเรียนมีค่าเท่ากับ 76.67 แสดงว่าประสิทธิภาพแผนของแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเรื่อง Flowers and Plants มีค่าเท่ากับ 72.93/76.67 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 70/70 ปรากฏว่าแผนของแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเ ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 70/70 ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีการ
จัดการเรียนรู้แบบโครงงาน จากผลจากการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างคะแนนเฉลี่ยของการทดสอบผลการเรียนรู้หลังการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงานและแบบปกติ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่านักเรียนที่เรียนรู้แบบโครงงานมีคะแนนเฉลี่ย 23.00 ส่วนนักเรียนที่เรียนรู้แบบปกติ มีคะแนนเฉลี่ย 20.49 และเมื่อทดสอบความแตกต่างด้วย สถิติ t-test แบบ Independent พบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 ทั้งสองกลุ่ม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 โดยผลการเรียนรู้หลังการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานมีค่าเฉลี่ยของคะแนนสูงกว่าการเรียนรู้แบบปกติ นอกจากนี้ผลสังเกตพฤติกรรมการทำงานกลุ่มด้วยแบบประเมินกระบวนการทำงานกลุ่มในการจัดการเรียนรู้ทั้ง 7 แผน คือ พฤติกรรมการร่วมกันวางแผนการทำงาน การทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย การเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี การแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล และยอมรับข้อสรุปและผลงานของกลุ่มและร่วมกันปรับปรุง พบว่านักเรียนที่มีพฤติกรรมผ่านเกณฑ์การประเมินระดับดีขึ้นไปมากที่สุด คือพฤติกรรมการร่วมกันวางแผนการทำงาน คิดเป็นร้อยละ 79.17 รองลงมาคือ พฤติกรรมการเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี คิดเป็นร้อยละ 79.14 และพบว่าพฤติกรรมที่นักเรียนผ่านระดับดีขึ้นไป
3. ความสามารถในการทำโครงงานภาษาอังกฤษของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ร้อยละ 82.98 มีความสามารถในระดับดีขึ้นไป และพบว่ามีความสามารถในการทำโครงงานระดับดี 2 กลุ่ม ระดับพอใช้ 3 กลุ่ม และระดับปรับปรุง จำนวน 1 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ทำโครงงานเรื่องต้นไม้ในโรงเรียนของเรา มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด คิดเป็น 3.50 คะแนน มีคุณภาพระดับดี รองลงมาคือกลุ่มที่ 6 เรื่องการแสดงความรู้สึกในโอกาส ต่างๆ ด้วยสำนวนภาษาอังกฤษ ได้คะแนนเฉลี่ย 3.20 ส่วนกลุ่มที่ 4 ทำโครงงานเรื่องวันสำคัญที่เป็นวันหยุดราชการของไทย ได้คะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด เท่ากับ 2.7 คะแนน มีคุณภาพของโครงงานระดับพอใช้ โดยข้อที่มีความสามารถในระดับดีคือ การดำเนินการตามแผน การวางแผนการทำโครงงาน อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการทำโครงงาน การบันทึกข้อมูล และการจัดกระทำข้อมูล ส่วนความสามารถในการทำโครงงานในเรื่องที่มีคุณภาพระดับปรับปรุง ได้แก่ เรื่องข้อมูลหรือข้อเท็จจริงประกอบการทำโครงงาน การแปลความหมายของข้อมูลและสรุปผล และ การเขียนรายงาน / การเสนอผลงาน
4. ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงาน จากการตอบแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการสอนวิชาภาษาอังกฤษด้วยวิธีสอนแบบโครงงานใน 5 ประเด็น (1) ความสำคัญของภาษาอังกฤษและสิ่งแวดล้อมรอบตัว (2) กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง (3) กิจกรรมการสอนของครู (4) เจตคติของผู้เรียนต่อวิชาภาษาอังกฤษ และ (5) กระบวนการกลุ่ม ในภาพรวม พบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 72.34 นักเรียนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานในระดับมาก ในด้านความสำคัญของภาษาอังกฤษและสิ่งแวดล้อมรอบตัว รองลงมาคือด้านกระบวนการกลุ่ม ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือด้านกิจกรรมการสอนของครู ความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้ด้านความสำคัญของภาษาอังกฤษและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ในระดับมากเป็นความคิดเห็นที่ว่าในโลกยุคปัจจุบันภาษาอังกฤษมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน และเห็นว่าการเรียนภาษาอังกฤษโดยการทำโครงงานมีประโยชน์กับนักเรียน ในด้านกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความคิดเห็นระดับมาก นักเรียนเห็นว่านักเรียน มีความรู้สึกภูมิใจที่ครูไม่ได้บอกความรู้ให้นักเรียน แต่ครูบอกวิธีการค้นคว้าความรู้จนพบคำตอบด้วยตนเอง และเห็นด้วยระดับมากในข้อที่นักเรียนควรรู้เรื่องใกล้ตัวหรือเหตุการณ์ในท้องถิ่นของนักเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ความคิดเห็นด้านกิจกรรมการสอนของครู นักเรียนเห็นด้วยระดับมากในข้อนักเรียนเห็นว่าการเรียนภาษาอังกฤษที่ดีนักเรียนต้องฝึกฝนให้มีความรอบรู้ทั้ง 4 ทักษะ คือ ฟัง พูด อ่านและเขียน ความคิดเห็นด้านเจตคติของผู้เรียนต่อวิชาภาษาอังกฤษ นักเรียนมีความคิดเห็นในระดับมากในข้อที่ว่าการทำกิจกรรมโครงงานภาษาอังกฤษทำให้มีความรู้ สนุก ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อน ๆ และความคิดเห็นด้านกระบวนการกลุ่ม นักเรียนมีความคิดเห็นระดับมากโดยมีความคิดเห็นว่าการทำโครงงานภาษาอังกฤษทำให้นักเรียน รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รู้จักแหล่ง ข้อมูลที่จะค้นคว้าในเรื่องต่าง ๆ และเห็นด้วยระดับมากว่าการทำโครงงานภาษาอังกฤษนักเรียนมีโอกาสได้เลือกหัวข้อเอง จึงทำให้การเรียนสนุก เพราะนักเรียนได้ศึกษาในหัวข้อที่สนใจ
ข้อเสนอแนะ
จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า การสอนด้วยวิธีสอนแบบโครงงานทำให้ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษสูงขึ้นกว่าการเรียนรู้แบบปกติ ผู้เรียนสามารถทำโครงงานได้ และนักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยในระดับมากต่อการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงาน ดังนั้นผู้ศึกษา จึงขอเสนอแนะที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนรู้ในสถานศึกษา ดังนี้
1. สถานศึกษาต่าง ๆ ควรสนับสนุนให้ครูนำวิธีสอนหรือแนวการสอนภาษาอังกฤษโดยใช้โครงงานไปใช้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนในหน่วยการเรียนรู้อื่น ๆ
2. ควรมีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับสถานศึกษาต่าง ๆ ที่มีความต้องการศึกษาวิธีการสอนภาษาอังกฤษด้วยวิธีสอนแบบโครงงานหรือวิธีอื่น เพื่อให้ครูมีความชัดเจนในเรื่องการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนภาษาอังกฤษด้วยวิธีสอนแบบโครงงาน และสามารถเลือกใช้เทคนิคการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสาระการเรียนรู้และผู้เรียน
3. ควรมีการนำวิธีสอนภาษาอังกฤษด้วยวิธีสอนแบบโครงงานไปใช้กับชั้นเรียนอื่น ๆ เนื่องจากพบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นในระดับมากต่อการเรียนรู้แบบโครงงานที่ว่าในโลกยุคปัจจุบันภาษาอังกฤษมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน และเห็นว่าการเรียนภาษาอังกฤษโดยการทำโครงงานมีประโยชน์กับนักเรียน ความรู้สึกภูมิใจที่ครูไม่ได้บอกความรู้ให้นักเรียน แต่ครูบอกวิธีการค้นคว้าความรู้จนพบคำตอบด้วยตนเอง ควรรู้เรื่องใกล้ตัวหรือเหตุการณ์ในท้องถิ่นของนักเรียนเป็นภาษาอังกฤษ การทำกิจกรรมโครงงานภาษาอังกฤษทำให้มีความรู้ สนุก ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อน ๆ และเห็นว่าการทำโครงงานภาษาอังกฤษทำให้นักเรียน รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รู้จักแหล่ง ข้อมูลที่จะค้นคว้าในเรื่องต่าง ๆ และเห็นด้วยระดับมากว่าการทำโครงงานภาษาอังกฤษนักเรียนมีโอกาสได้เลือกหัวข้อเอง จึงทำให้การเรียนสนุก เพราะนักเรียนได้ศึกษาในหัวข้อที่สนใจ สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ความคิดเห็นในเชิงบวกดังกล่าวทำให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อวิชาภาษาอังกฤษ และมีผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบโครงงานสูงกว่าการจัดการเรียนรู้แบบปกติตามคู่มือครู
4. ควรประเมินความสามารถในการทำโครงงานของผู้เรียนในรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้เป็นการประเมินที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ การประเมินด้านการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
5. ควรมีการวิจัยและพัฒนาคู่มือการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษด้วยวิธีสอนแบบโครงงานสำหรับครูโรงเรียนประถมศึกษา
6. ควรมีการวิจัยและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษด้วยวิธีสอนแบบโครงงานโดยการบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่น ๆ และข้อมูลจากชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้การจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงสุด