สวนญี่ปุ่น (ตอน1) - แนวความคิดและรูปแบบ
สวนญี่ปุ่น : Japanese Garden
ประวัติ แนวความคิดและรูปแบบ
สวนญี่ปุ่น เป็นสวนที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองสูง โดดเด่น และสวยงาม ไม่แพ้สวนของชนชาติใดๆเลย เพราะปรัชญาการออกแบบสวนของญี่ปุ่นนั้นมีการพัฒนามาเป็นเวลายาวนาน ทำให้สวนญี่ปุ่นเป็นสวนที่มีความหมายลึกซึ้งเกี่ยวกับ ความงดงามของธรรมชาติ ศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ ความศรัทธา ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต เช่น พิธีชงชา จึงทำให้สวนญี่ปุ่นนั้นสวยงามโดดเด่น นอกจากการจำลองแบบธรรมชาติมาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญต่างๆแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งคือ ปรัชญาทางศาสนา ที่ผสมผสานเอาปรัชญาของพุทธศาสนาแบบเซน เต๋า และชินโต มาร่วมในการออกแบบ สวนจึงมีจิตวิญญาณแฝงอยู่อย่างมีศิลปะ โดยอิทธิพลทางพุทธศาสนา จะแสดงออกในด้านความ สงบ เงียบ เพื่อสะท้อนให้เกิดการเพ่งมองจิตใจตัวเองได้อย่างมีสมาธิ และสอนให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร ด้วยความเคารพ
ผมจะนำเสนอเรื่องของสวนญี่ปุ่น เป็น 2 ตอน คือในตอนแรกจะเล่าประวัติความเป็นมา และแนวความคิดของการจัดสวนเสียก่อน ให้เราได้รู้พื้นฐานในการจัดแบบมีหลักการ ตอนที่ 2 จึงจะว่าเรื่ององค์ประกอบและวิธีการ เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้งานได้จริง สำหรับผู้ที่ชื่นชอบ สวนแบบญี่ปุ่นนี้ ที่มีข้อดีคือ สวนญี่ปุ่น ไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดของสวน จะจัดแบบใหญ่ เล็ก ก็ได้ทั้งนั้น
ประวัติความเป็นมา
สวนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากสวนจีน พร้อมๆกับการเผยแพร่เข้ามาของศาสนาพุทธในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 มีพระภิกษุญี่ปุ่น 2 รูป จาริกไปศึกษาในดินแดนจีน และกลับมาตั้งลัทธิใหม่ 2 ลัทธิ คือ Shingon และ Tendi ซึ่งเป็นศาสนาพุทธแบบมหายาน ลัทธิทั้งสองนี้เน้นทางปฏิบัติ โดยให้ผู้ปฏิบัติธรรม หาที่วิเวกเข้าสู่ความเงียบของธรรมชาติ และทำสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา การจัดสวนในญี่ปุ่นจึงมีจุดเริ่มต้นจากวัดเช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของสวนจีน จากนั้นจึงแผ่ขยายความนิยมเข้าไปในวังและบ้านคหบดีในเวลาต่อมา
ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 - 17 วัดในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นวัดในลัทธิชินโต มีสถาปัตยกรรมคล้ายกับที่สร้างกันในประเทศจีน คือ หลังคาเป็นทรงโค้งมักจะมุงด้วยหญ้า ไม่มุงกระเบื้อง และจะมีลานกรวดเพื่อแสดงถึงความเป็นพื้นที่สงบ ศักดิ์สิทธิ์ ลานกรวดตามวัดต่างๆ จะถูกสร้างขึ้นอย่างประณีตและไม่ปลูกต้นไม้ที่มีใบร่วงไว้ในบริเวณใกล้เคียง (คงเป็นเรื่องง่ายต่อการดูแล)ในตอนปลายสมัยนี้นิยมสร้างสระน้ำใหญ่ไว้ในสวน และมีศาลาสวดมนต์ตั้งอยู่รอบๆ สวนในบ้านขุนนางชั้นผู้ใหญ่หรือคหบดี จะมีการตกแต่งประดับประดาด้วยอัญมณีมีค่าบริเวณศาลา มีการติดโคมไฟ ตลอดจนการทำรั้วรอบ
ในศตวรรษที่ 17 - 19 การเข้ามาของลัทธิ Zen ในญี่ปุ่น ทำให้เกิดสวนขึ้นอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า Dry Garden (kare sansui) มีลักษณะเป็นสวนแบบ Minimalism (เรียบง่ายที่สุดหรือน้อยที่สุด) ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อให้เอื้อต่อการทำสมาธิ สวน Zen จึงเป็นสวนที่มีองค์ประกอบน้อยมาก เพื่อแสดงให้เห็นแก่นแท้ของธรรมชาติ สวนมีลักษณะเป็นลานกรวดที่มีต้นไม้น้อยที่สุด เพื่อให้เห็นผิวสัมผัสของหิน ที่ปกคลุมด้วยตะไคร่หรือมอส ทั้งยังตัดส่วนประกอบต่างๆที่มากมายออกไป ให้เหลือเฉพาะแก่นแกนที่สำคัญ และสื่อความหมายในลักษณะแบบชี้แนะ (Suggestion) ให้เห็นว่านี่คือภูเขา เกาะ หรือทะเล โดยผู้ชมต้องใช้ความคิด และจินตนาการประกอบการรับรู้นั้น
คติแบบเซนนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อการจัดสวนหินและสวนทรายซึ่งเป็นการเสนอแนวคิดทางนามธรรมในการจัดสวนแบบญี่ปุ่น ที่แสดงออกถึงความรักและเคารพในธรรมชาติ ผืนดิน ก้อนหิน และพืชพันธุ์ ซึ่งแม้จะเป็นบริเวณเล็กๆ แต่ก็สามารถนำจินตนาการของผู้ใช้ให้สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ โดยการจำลองหรือย่อส่วน
ยกตัวอย่างสวน Zen ที่เลื่องชื่อในญี่ปุ่น ได้แก่สวนเรียวอันจิ (Ryoan-ji) ในเมืองเกียวโต ซึ่งเป็นสวนหิน ที่มีแนวคิด มาจากกองเรือและทะเล กลุ่มหิน จะแทนกองเรือ ส่วนรอยคราดหินเป็นวงกลม แทนกระแสน้ำที่วนรอบเรือ หินทางเดินแทน เกาะเล็ก เกาะน้อยของญี่ปุ่น ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสวนแบบAbstract แห่งแรกของโลก ผู้ที่เห็นรอยคราดนี้จะนึกถึงน้ำ โดยที่สวนไม่มีการใช้น้ำตกแต่งเลยแม้สักหยด สวน Zen บางแห่งมีการประยุกต์ให้มีต้นไม้แบบย่อส่วนหรือบอนไซ ให้ขึ้นเกาะกับหินเพื่อเพิ่มชีวิตชีวาให้กับสวน
ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22 เริ่มมีการจัดสวนเพื่อการพักผ่อน ให้เดินเล่น เดินทอดอารมณ์ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ สวนที่กล่าวมาเป็นลักษณะที่ผู้ใช้ไม่ออกไปเดินในสวน ได้แต่มองและพิจารณาถึงความสวยงามและความหมาย แต่ในช่วงศตวรรษนี้ เกิดความนิยมจัดสวนที่ให้มีการใช้งานบริเวณนั้นด้วยจริงๆ ดังนั้นแนวความคิดจากเดิมก็เริ่มเปลี่ยนไป จากแบบ Minimalism ก็เริ่มออกแบบให้มีความอลังการโดยการเพิ่มองค์ประกอบต่างๆ และใช้จินตนาการในการสร้างมากขึ้น
สวนญี่ปุ่น ยังได้รับอิทธิพลมาจากการจัดสวนถาด (tray garden) อีกด้วยเช่นกัน สวนญี่ปุ่นมักจะมีระเบียงหรือชานที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างพื้นที่ภายในอาคารกับพื้นที่ภายนอก องค์ประกอบที่มักจะพบในสวนญี่ปุ่น คือ ตะเกียงหิน (stone lantern) ซึ่งวัตถุประสงค์เดิมใช้เพื่อให้แสงสว่างในสวนยามค่ำคืน ซึ่งต่อมาได้ก็ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของงานประติมากรรมในสวนแบบญี่ปุ่น
การคำนึงถึงความสอดคล้อง สัมพันธ์ระหว่าง ที่ว่าง เวลา และ มิติในการมอง นับเป็นเสน่ห์ประการหนึ่งของสวนแบบญี่ปุ่น คือมีลักษณะที่ค่อยๆเปิดเผย แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของที่ว่างที่แตกต่างกันไปในแต่ละมุมมอง สวนญี่ปุ่นมีปฏิสัมพันธ์กับแทบทุกสัมผัสของมนุษย์ โดยสื่อผ่าน สี รูปทรง เส้นสาย ผิวสัมผัสของหิน ทราย ก้อนกรวด หินปูทางเดิน (stepping stone) ตลอดจนกลิ่นละมุนของดอกไม้และต้นสน
สวนแบบญี่ปุ่น เป็นสวนที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองความงดงามของธรรมชาติด้วยความใส่ใจ ประณีต และพิถีพิถัน การจัดองค์ประกอบของภาพภูมิทัศน์โดยการจัดแต่งก้อนกรวด หิน ต้นไม้ สามารถมองได้จากหลากหลายทิศทาง ทั้งจากมุมต่างๆในสวน และเมื่อมองจากชานระเบียงบ้าน ซึ่งใช้เชื่อมต่อมุมมองระหว่างภายในบ้านกับนอกบ้านได้ โดยการเลื่อนฉากบานเลื่อนออกได้เต็มความกว้างของผนัง
ประเภทของสวนญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. สวนภูเขา (Tsukiyama) เป็นสวนที่ลอกเลียนแบบธรรมชาติ
2. สวนในที่ราบ (Karesansui) เป็นสวนแห่งการสมมุติ
3. สวนน้ำชา (Chaniwa) เป็นสวนที่นำลักษณะเด่นของสวนภูเขาและสวนที่ราบมาผสมกัน ประกอบด้วยสวนย่อมเล็ก ๆ 2 ข้าง ทางเดิน ไปสู่เรือนน้ำชา ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวหลังเล็ก ๆ
สวนภูเขา
เป็นสวนที่จะจำลองธรรมชาติกว้างใหญ่ มาไว้ในที่จำกัด จึงมีองค์ประกอบเกือบทุกอย่าง ทั้งภูเขา เนินดิน ทะเลหรือน้ำ การจัดจึงมีมิติที่กว้างกว่า หรือเป็นสามมิติมากกว่าแบบอื่น สวนแบบนี้เหมาะที่จะนำมาประยุกต์ใช้จัดสวนญี่ปุ่นในเมืองไทย เพราะสามารถดัดแปลง หรือยืดหยุ่นได้ดี ในเรื่องการจัดหาต้นไม้ และองค์ประกอบอื่นๆมาใช้ให้ได้รูปแบบที่ใกล้เคียง
สวนในที่ราบ
เป็นสวนที่จัดขึ้นบนพื้นที่ราบ ปราศจากภูเขาหรือเนินดินหรือสระน้ำเป็น เครื่องตกแต่ง เกิดขึ้นในสมัย Muromachi Era โดยนิกายเซน ซึ่งยึดมั่นใน ความสงบสันโดษ เป็นสวนแบบจินตนาการ หรือเป็นสวนแห่งการสมมุติ ที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาทางธรรม จึงเน้นความเรียบง่าย สงบ มากกว่าแบบอื่น สวนแบบนี้เดิมทีจัดในบริเวณลานวัด ซึ่งมีกำแพงเป็นฉากหลัง แต่ต่อมาได้มีผู้นิยมนำแบบอย่างไปจัดในบริเวณบ้านหรือที่พักอาศัย ซึ่งจะเหมาะกับบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด เพราะไม่นิยมปลูกต้นไม้มากหลายต้น จะมีบ้างก็น้อยต้น ถ้าเป็นต้นใหญ่ มักจะมีกิ่งก้านโปร่ง ส่วนไม้พุ่มจะตัดแต่งเป็นพุ่มกลม ให้กลมกลืนกับก้อนหิน ผู้จัดจะต้องใช้จินตนาการในการวางก้อนหิน การปลูกต้นไม้ และการขีดลวดลาย ลงบนพื้นทราย หรือกรวด ให้มองแล้ว เหมือนคลื่นหรือระลอกน้ำในทะเล หรือกระแสน้ำไหลของแม่น้ำ สวนในที่ราบ ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ สวนแบบเขียวชอุ่ม และสวนแบบพื้นที่แห้ง
สวนในที่ราบแบบเขียวชอุ่ม (Evergreen gardens)
ประกอบด้วยพื้นที่ราบเรียบ ปกคลุมด้วยหญ้าหรือมอสสีเขียวขจี สมมุติว่าเป็น "น้ำ" อาจเป็นทะเลหรือมหาสมุทร มีต้นไม้และก้อนหินรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ สมมุติว่าเป็น "เกาะ" ต้นไม้ใหญ่มีน้อยต้น และมักจะมีกิ่งก้านโปร่ง ส่วนพุ่มมักจะตัดแต่งให้เป็นรูปทรงกลม เพื่อให้กลมกลืนกับก้อนหิน ส่วนประกอบอื่นๆ ได้แก่ ตะเกียงหิน อ่างน้ำ แผ่นทางเดิน มีรั้วลักษณะโปร่งเป็นฉากหลัง เพื่อใช้ประดับและแบ่งขอบเขตของสวน บางแห่งอาจ มีบ่อน้ำซึ่งแต่เดิมมีไว้ใช้ เพื่อประโยชน์ใช้สอย สวนในที่ราบแบบนี้ นิยมจัดไว้ที่ มุมใดมุมหนึ่งใกล้ๆเรือนน้ำชาหรือบ้านพัก เพื่อใช้น้ำในอ่างล้างมือ ล้างหน้าหรือล้างเท้า ก่อนขึ้นบ้าน แต่ในปัจจุบันมิได้ใช้ประโยชน์เพียงแต่มีใว้เพื่อเป็นการประดับเท่านั้น สวนแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับสภาพอากาศของเมืองไทย เพราะร้อนและแล้ง การใช้หญ้าหรือมอสมักไม่ค่อยได้ผล เพราะต้องการความชื้นสูงและอากาศเย็น พอมาปลูกแบบของเรามันจึงจะไม่เขียวชอุ่ม
สวนในที่ราบแบบแห้ง (Dry landscape gardens)
สวนชนิดนี้ สร้างตามปรัชญาของนักบวช นิกายเซน ในบริเวณลานวัดเพื่อทำสมาธิ พิจารณาความสงบทางจิต เพ่งพิจารณารูปธรรม(สิ่งที่มีรูป) ของสรรพสิ่งที่มีชีวิต หรือสิ่งที่ไร้วิญญาณ มาสู่นามธรรม(สิ่งที่ไม่มีรูป รู้ได้ทางใจ) สวนแบบนี้มีพื้นที่ราบเรียบ โรยด้วยทรายหรือกรวด สมมุติว่าเป็น "น้ำ" และมีก้อนหินวางไว้เป็นกลุ่มๆ สมมุติว่าเป็น"เกาะ" มีกำแพงหรือบ้านเป็นฉากหลัง กรวดหรือทรายที่ราบเรียบอาจใช้ไม้ปลายแหลมขีดเป็นเส้นโค้งไปมาเหมือนลูกคลื่นหรือระรอกน้ำ ห่างกันบ้าง ชิดกันบ้าง บางเส้นกระทบกับก้อนหิน เมื่อมองดูแล้วจะเกิดความรู้สึกว่ามีเกาะหรือโขดหินโผล่ขึ้นมาจากทะเลหรือมหาสมุทร ข้อสังเกตของสวนแบบนี้คือ ไม่มีต้นไม้เป็นส่วนประกอบ และปราศจากน้ำ สวนแบบนี้เหมาะกับการจัดพื้นที่เล็กๆแบบสวนหย่อม หรือตามอาคารเช่นระเบียงหรือดาดฟ้าได้ และดูแลไม่ยาก
สวนน้ำชา
การจัดสวนรอบๆเรือนน้ำชา โดยนำลักษณะเด่นพิเศษของสวนภูเขามาไว้บางส่วน และนำเอาลักษณะเด่นพิเศษของสวนในที่ราบแบบเขียวชอุ่ม มาอีกบางส่วนจัดให้ผสมผสานกัน สวนน้ำชาจะมีรั้วด้านนอก เพื่อแสดงขอบเขต ทางเข้าสวนจะมีประตูรูปทรงต่างๆแปลกตา สวนบางแห่งประตูจะมีหลังคาที่มุงด้วยแผ่นไม้หรือไม้ไผ่หรือหญ้าคา ทางเดินเข้าสู่เรือนน้ำชาจะปูด้วยหินสกัดแบน หรือเขียงไม้ วางห่างกันให้พอดีกับช่วงก้าวเดิน เป็นการป้องกันไม่ให้เหยียบพื้นดินซึ่งคลุมด้วยหญ้าหรือมอสสีเขียวขจี สองข้างทาง จะจัดแต่งเป็นสวนประดับหิน สลับซับซ้อนเป็นระยะ ๆ
ตอนแรกจะขอจบแค่นี้ก่อน ตอนต่อไปจะว่าด้วยเรื่องขององค์ประกอบต่างๆ และวิธีการจัดสวนครับ
ขอขอบคุณเจ้าของข้อมูล TraveLArounD
เรียบเรียงจาก
http://www.jnto.go.jp/eng/indepth/history/experience/b.html
http://www.thailandscape.com/ginspire/japan-gar/index.htm
http://www.novabizz.com/CDC/Garden/Garden_Japanese.php
http://www.readygarden.biz/index.php?lay=show&ac=article&Id=42185&Ntype=1
http://www.homedd.com/HomeddWeb/homedd/upload_files/garden/frontweb/design/garden_0701_3.jsp
ภาพประกอบส่วนใหญ่จาก
http://www.jsnw.org.uk/Gallery2/Japanese-Garden-Tatton-Park_05.JPG