Advertisement
|
..
|
|
คมชัดลึก : ช่องเขาที่แบ่งภูเขาหินขนาดย่อมๆ ขาดออกเป็นสองฝั่ง มีทางทอดยาวเข้าไป ดูอย่างไรก็เกิดจากฝีมือมนุษย์มากกว่าธรรมชาติสรรค์สร้าง เพื่อใช้เป็นทางรถไฟจากกาญจนบุรีไปพม่า ถ้าเป็นยุคนี้คงเสียเวลาไม่นานนัก หากแต่เมื่อ 70 ปีก่อน ณ ที่แห่งนี้ได้กลายเป็นนรกสันดาปบนดินอย่างแท้จริง ที่ซึ่งเชลยศึกต้องสังเวยชีวิตมากมายเหลือคณานับ ว่ากันว่า 1 หมอนรางรถไฟเท่ากับ 1 ชีวิตของเชลยศึก !?!
|
|
|
|
บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด
คมชัดลึก : ช่องเขาที่แบ่งภูเขาหินขนาดย่อมๆ ขาดออกเป็นสองฝั่ง มีทางทอดยาวเข้าไป ดูอย่างไรก็เกิดจากฝีมือมนุษย์มากกว่าธรรมชาติสรรค์สร้าง เพื่อใช้เป็นทางรถไฟจากกาญจนบุรีไปพม่า ถ้าเป็นยุคนี้คงเสียเวลาไม่นานนัก หากแต่เมื่อ 70 ปีก่อน ณ ที่แห่งนี้ได้กลายเป็นนรกสันดาปบนดินอย่างแท้จริง ที่ซึ่งเชลยศึกต้องสังเวยชีวิตมากมายเหลือคณานับ ว่ากันว่า 1 หมอนรางรถไฟเท่ากับ 1 ชีวิตของเชลยศึก !?!
ปัจจุบันช่องเขาขาดได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ อยู่ภายในกองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จากทางหลวงหมายเลข 323 ไปทางทิศตะวันตกของเมืองกาญจน์ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 64-65 ต้องต้อนรับทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 8 หมื่นคนต่อปี ที่เดินทางมาร่วมรำลึกและไว้อาลัยต่อเชลยศึก ตลอดจนแรงงานชาวเอเชียที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อตัวขึ้นในยุโรปเมื่อเยอรมันภายใต้การนำของผู้นำจอมเผด็จการ "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์" ได้ยกกองทัพบุกโปแลนด์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2482 ต่อมาปลายปี 2484 สงครามได้ขยายเข้าสู่ยุโรปและตะวันออกกลาง ต่อมาญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วมสงครามหาเอเชียบูรพา โดยวางแผนบุกอาณานิคมของอังกฤษ ฮอลแลนด์ และอเมริกา ในเอเชียแปซิฟิก
วันที่ 7-8 ธันวาคม 2484 สงครามในแปซิฟิกเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อกองทัพญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbour) เมืองท่าสำคัญของมลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา จุดชนวนให้อเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มตัว หลังจากรอดูท่าทีอยู่นาน
กลางปี 2485 ทหารลูกพระอาทิตย์เข้าสู้รบกับกองทหารอังกฤษในพม่า โดยมีจุดประสงค์หลักคือต้องการรุกคืบเข้าสู่อินเดีย อาณานิคมของสหราชอาณาจักร แต่การทำสงครามกับพม่า ทหารญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้เส้นทางการขนส่งกองกำลังและเสบียง ที่ปลอดภัยมากกว่าการเดินเรือทะเลระหว่างสิงคโปร์กับย่างกุ้ง เพราะล่อแหลมต่อการถูกโจมตีจากฝ่ายพันธมิตร
ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจสร้างทางรถไฟที่มีความยาวประมาณ 415 กิโลเมตร จาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่านผืนป่าและภูเขาสูงชันไปถึง อ.ตันบูชายัต ในประเทศพม่า ด้วยเหตุนี้กองทัพญี่ปุ่นจึงรวบรวมเอาแรงงานหลายเชื้อชาติ ทั้งแรงงานชาวเอเชียราว 2.5 แสนคน และเชลยศึกชาวออสเตรเลีย อังกฤษ ฮอลแลนด์ และอเมริกา มากกว่า 6 หมื่นคน มาก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ขึ้น
การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นที่ตอนใต้ของพม่าช่วงเดือนตุลาคม 2485 ปลายฝนต้นหนาว ขณะเดียวกันก็มีการก่อสร้างทางรถไฟในประเทศไทย เพื่อไปบรรจบกันที่แก่งคอยท่าในเขตไทย ซึ่งกินเวลานานนับขวบปี
มีบันทึกหลายแห่งระบุถึงความโหดร้ายทารุณ ที่บรรดาเชลยศึกและแรงงานได้รับ ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ โดยเฉพาะการขุดเจาะช่องเขาเพื่อวางรางรถไฟ กองทัพญี่ปุ่นได้นำเชลยศึกชาวออสซี่ 400 คน ประเดิมขุดเจาะ และเมื่อเห็นว่าการก่อสร้างทางเป็นไปด้วยความล่าช้า จึงเพิ่มเชลยศึกเข้าไปอีก ส่วนใหญ่เป็นทหารออสซี่และจากสหราชอาณาจักร
ในบันทึกที่ปรากฏในพิพิธภัณฑสถานช่องเขาขาด บรรยายเหตุการณ์เอาไว้อย่างละเอียดว่า บรรดาเชลยศึกเหล่านี้ต้องใช้ค้อนหนัก 8 ปอนด์ สว่าน ระเบิด เสียม พลั่ว จอบ ขุดเจาะช่องเขาทีละนิดๆ แล้วขนใส่ตะกร้าหวายอันเล็กๆ ขนเศษหินและดินออกไปทิ้ง พวกเขาทำงานตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ได้หยุดหย่อน ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เพราะนอกจากงานหนักและทารุณแล้ว ยังมีโรคไข้ป่าเล่นงานเชลยศึก หลายคนเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นใบไม้ร่วง
ขณะก่อสร้างเส้นทางสายนี้เป็นช่วงมรสุม เชลยศึกถูกวิศวกรชาวญี่ปุ่นและผู้คุมชาวเกาหลี บังคับให้ทำงานวันละ 18 ชั่วโมง กินอาหารวันละ 2 มื้อ คือ ข้าวกับผักดองเค็ม ระหว่างการก่อสร้างสะพานรถไฟให้เสร็จทันกำหนด เหล่าเชลยศึกฝ่ายพันธมิตรขนานนามช่องเขาขาดว่า "ช่องนรก" หรือ Hell Fire Pass ด้วยเหตุที่พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืน โดยอาศัยแสงสว่างจากคบไฟที่จุดพรึ่บจนสว่างไสวเหมือนกลางวัน
"เชลยศึก 6 หมื่นคน 20 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิต แรงงานอีกไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นคน ต้องสังเวยชีวิตระหว่างการก่อสร้างรถไฟแห่งนี้ จนมีผู้เปรียบเปรยว่า 1 หมอนรางรถไฟเท่ากับ 1 ชีวิตของเหล่าเชลยศึก" ทิม เอี่ยมทอง อดีตผู้ใหญ่บ้านท่าทุ่งนา หมู่ 2 ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี วัย 60 เศษ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มานาน ได้ฟังคำบอกเล่าต่อๆ กันมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย กล่าวกับ "คม ชัด ลึก"
เมื่อทางรถไฟสายดังกล่าวสร้างเสร็จสิ้นภายในเวลา 20 เดือน เชลยศึกบางส่วนถูกส่งกลับไปสิงคโปร์ บางส่วนถูกกักขังไว้ในประเทศไทย กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เชลยศึกที่หลงเหลืออยู่จึงถูกส่งกลับประเทศ พร้อมกับการดูแลอย่างเหมาะสม แม้ว่าจะมีชีวิตรอดกลับสู่มาตุภูมิ แต่ความทรงจำอันแสนเลวร้ายที่ได้รับระหว่างการอยู่ใต้อำนาจของกองทัพญี่ปุ่น กลายเป็นบาดแผลในใจที่ยากเยียวยา
ส่วนเชลยศึกที่นำชีวิตมาทิ้งไว้ ณ ที่แห่งนี้ ได้รับการขุดร่างไร้วิญญาณไปทำพิธีฝังใหม่ ณ สุสานเครือจักรภพที่ตันบูชายัต ประเทศพม่า สุสานช่องไก่ และสุสานกาญจนบุรี ประเทศไทย ส่วนศพเชลยศึกชาวอเมริกันถูกส่งกลับไปที่สหรัฐ
แม้วันนี้ที่ช่องเขาขาดจะปราศจากคบไฟ แรงงานเชลยศึก และการทรกรรม แต่หินทุกก้อน ต้นไม้ทุกต้น ก็มีเรื่องราวให้เล่าขานถึงเหตุการณ์เมื่อวันวาน วันที่เชลยศึกและแรงงานนับหมื่นนับแสนคนเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่นี่ โดยไม่มีวันได้หวนกลับคืนสู่มาตุภูมิไปชั่วนิรันดร์ !?!
ประวัติศาสตร์มีชีวิต
ช่องเขาขาดเป็นทางแคบๆ ตัดผ่านเนินเขา มูลดิน ทางรถไฟ และสะพาน ปัจจุบันได้กลายเป็นโครงการพิพิธภัณฑสถานช่องเขาขาด เพื่อรำลึกถึงเหล่าทหารที่ต้องทุกข์ทรมานจากการก่อสร้างเส้นทางสายทาสนี้ โดย เจ จี ทอม มอรีส ชาวออสเตรเลีย หนึ่งในเชลยศึกที่อยู่ร่วมชะตากรรมนรกบนดินครั้งนั้น เป็นคนริเริ่มพัฒนาและบำรุงรักษาไว้ให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ถึงความโหดร้ายที่เชลยศึกได้รับระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะอายุได้ 17 ปี ทอมสมัครเข้าเป็นทหารยศสิบโท กองพลน้อยที่ 22 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2484 เขาถูกจับเป็นเชลยศึกระหว่างทำสงครามที่สิงคโปร์ เดือนกุมภาพันธ์ 2485 หลังจากนั้นถูกนำตัวมากักขังในฐานะเชลยศึกนานถึง 3 ปี ในกองกำลังเอฟอร์ซ (A-Force) ระหว่างถูกคุมขังทอมถูกบังคับให้ทำงานก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่าสายประวัติศาสตร์นี้ และถูกนำตัวไปขังไว้ตามค่ายทหารต่างๆ ถึง 10 ค่าย จนเป็นต้นเหตุให้เขาติดเชื้อไข้มาลาเรียและโรคบิด ต่อมาเขาได้ทำหน้าที่ทหารเสนารักษ์ คอยช่วยเหลือเชลยศึกคนอื่นๆ ในค่ายพยาบาลบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 55
หลังพ้นจากนรกขุมสุดท้าย ทอมได้กลับบ้านที่ออสเตรเลียและอาศัยอยู่ที่นั่นนานกว่า 40 ปี เขาจึงตกลงใจกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง เพื่อหาที่ตั้งของจุด "ช่องเขาขาด" (Hell Fire Pass) เมื่อปี 2527 และความพยายามอันมุ่งมั่นของเขาก็ประสบความสำเร็จ นอกจากจะพบที่ตั้งของช่องเขาขาดที่อยู่ใจกลางป่าทึบแล้ว ทอมยังมีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะบูรณะพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่ต้องนำเอาเลือดเนื้อและวิญญาณมาสังเวยให้แก่ทางรถไฟสายนี้
โดยทอมได้นำเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อของบประมาณบูรณะพัฒนาช่องเขาขาดให้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ในลักษณะกองทุน โดยเงินก้อนแรกถูกส่งมาเมื่อปี 2530 ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานช่องเขาขาด ต่อมาปี 2537 ได้รับเงินสนับสนุนอีกครั้ง จึงนำไปใช้สร้างพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด เพื่อจัดแสดงมินิเธียเตอร์และรวบรวมข้อมูลภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเมื่อ 70 ปีก่อน โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2542
|
|
|
เช้าวันที่ 5 กรกฎาคม 2485 หลักหมุดต้นแรกก็ถูกตอกลงที่สถานีหนองปลาดุก เป็นการเริ่มต้นการก่อสร้างรถไฟสายประวัติศาสตร์ ไทย-พม่า
|
|
|
|
บทความ
พูดถึง "ทางรถไฟสายมรณะ" ใครๆ ก็รู้ว่า เป็นทางรถไฟที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นทางรถไฟที่ใช้เวลาสร้างราว 17 เดือน และมีอายุการใช้งานเพียง 1 ปี เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่ผ่านไปยังประเทศพม่า และทางรถไฟสายนี้ เป็นน้ำพักน้ำแรงของทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มา
ตลอดเส้นทางของทางรถไฟสายมรณะ เต็มไปด้วยทัศนียภาพอันงดงาม แต่จะมีสักกี่คนที่ระลึกได้ว่า จุดเริ่มต้นของทางรถไฟสายนี้ อยู่ที่สถานีหนองปลาดุก เขตอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
หนองปลาดุก เป็นชื่อบ้านในเขตตำบลหนองกบ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็น สถานที่ตั้งของชุมทางรถไฟสายสำคัญ สายประวัติศาสตร์ที่หลายคนรู้จักกันดี นั่นคือ ทางรถไฟสายมรณะ หนองปลาดุกห่างจากกรุงเทพฯ ราวหกสิบกว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณชั่วโมงเศษ
จากหนองปลาดุก เส้นทางรถไฟสายมรณะนี้ วิ่งผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปทางตะวันตก จนถึงด่านเจดีย์สามองค์ ปลายทางสิ้นสุดที่เมืองตันบูซายัด ประเทศพม่า ระยะทางทั้งหมดของทางรถไฟสายนี้ ราวสี่ร้อยกว่ากิโลเมตร เป็นระยะทางในเขตประเทศไทยเรา 300 กิโลเมตร
เช้าวันที่ 5 กรกฎาคม 2485 หลักหมุดต้นแรกก็ถูกตอกลงที่สถานีหนองปลาดุก เป็นการเริ่มต้นการก่อสร้างรถไฟสายประวัติศาสตร์ ไทย-พม่า ในช่วงเจรจากับฝ่ายไทย ญี่ปุ่นมักฉวยโอกาสเริ่มงานก่อนโดยไม่รอผลของการเจรจา
ที่สถานีหนองปลาดุกมีกรรมกรไทยเข้าใจว่าคงเป็นชาวนาในละแวกนั้นมาทำงานที่สถานีหนองปลาดุก ต้องทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้า พักทานอาหารกลางวัน 1 ชั่วโมง เลิกงานเวลาประมาณ 5 โมงเย็น จ่ายค่าจ้างเป็นรายวันๆละ 80 สตางค์ และมีการจ้างกรรมกรจากจังหวัดใกล้เคียงมาเสริม เช่น ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี อีกด้วย
ความเข้มงวดของทหารชาวญี่ปุ่นนี่เอง ทำให้เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์น้ำผึ้งหยดเดียวที่ค่ายเชลยศึกวัดดอนตูม เรียกว่า เหตุการณ์บ้านโป่ง (Banpong Event)
|
|
วันที่ 15 พ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,408 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,226 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,154 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,147 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 14,467 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,847 ครั้ง |
เปิดอ่าน 24,674 ครั้ง |
เปิดอ่าน 25,193 ครั้ง |
เปิดอ่าน 19,178 ครั้ง |
|
|