“ปากเป็นเอก เลขเป็นโท โบราณว่า
หนังสือตรี มีปัญญา ไม่เสียหลาย
ถึงรู้มาก ไม่มีปาก ลำบากกาย
มีอุบาย พูดไม่เป็น เห็นป่วยการ”
ร. 6
มนุษย์มีความแตกต่างกันต่างเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม และภาษา ตามลักษณะกายภาพโดยทั่วไป และเผ่าพันธุ์ของมนุษย์มุ่งเน้นการพัฒนาให้เจริญงอกงามตามสมัยของปัจจุบันนิยมในลักษณะกายภาพต่าง ๆ เช่นทำนุบำรุงชาติ ศาสนา และการศึกษา ให้มีความเจริญอยู่อย่างต่อเนื่องปัญญาชนโดยทั่วไปจึงเสาะแสวงหาความรู้ใน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่มีอยู่เพื่อเพิ่มพูนความรู้วิชาการและรู้ทันปัจจุบันการณ์ แต่หากว่าถ้าเราให้ความสำคัญกับการศึกษาแล้วนั้นทำไมปัญญาชนทั้งหลายจึงลืมไปว่า สูตรของความสำเร็จนั้นไม่ได้ขี้นอยู่กับความรู้เพียงอย่างเดียว ซึ่งความสำเร็จต้องมีองค์ประกอบหลายองค์ประกอบด้วยกัน ถึงจะสามารถประสบผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว อนึ่งผู้เขียนได้ยกพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6 เป็นบทนำเพื่อให้ผู้อ่านทั้งหลายได้ตระหนักถึงเส้นทางแห่งความสำเร็จอีกปัจจัยหนึ่ง นั่นคือ “การพูด”
เมื่อเปรียบพระราชนิพนธ์แล้วการพูดเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทุกท่านพูดได้แต่อาจพูดไม่เป็น นั่นหมายความท่านอาจจะไม่สามารถพูดได้ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือท่านอาจจะพูดไม่ได้ถ้าเกิดการพูดแบบเฉียบพลัน หรือท่านอาจจะมีความรู้มากแต่ไม่มีความสามารถในการถ่ายทอดให้ผู้อื่นรู้ด้วยคำพูด เมื่อท่านตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวแล้วท่านคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการพูดเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และความนัยของพระราชนิพนธ์เปรียบการพูดเป็นศาสตร์ชั้นสูงเทียบการศึกษาคือ ปริญญาเอก เลยทีเดียว มีนักวิชาการหลายๆ ท่านที่จบการศึกษาและความความรู้ในวิชาการระดับสูงแต่เมื่อเราฟังแล้ว ไม่สามารถจับใจความสำคัญได้ หรือถ้าพูดแบบชาวบ้านก็คือ พูดไม่รู้เรื่องนั่นเอง ถ้าเราเป็นผู้พูดแล้วผู้ฟังไม่รู้เรื่องจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา เส้นทางแห่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อีกประการคงจะหนีไม่พ้นคือ การพูด
ตามหลักโดยทั่วไป การพูด หมายถึง การสื่อความหมายของมนุษย์โดยการใช้เสียง และกิริยาท่าทางเป็นเครื่องถ่ายทอดความรู้ความคิด และความรู้สึกจากผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง
การพูดเป็นศาสตร์ คือวิทยาการที่ได้มาจากการสั่งสอนให้ความรู้ รู้จากได้การอ่าน หรือประสบการณ์ ความรู้
การพูดเป็นศิลป์ คือการใช้หลักจิตวิทยาโดยการจูงใจด้วยคำพูด ให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อถือ ศรัทธา
หลักการพูดโดยทั่วไป
1. ศึกษาเกี่ยวกับผู้ฟังและสิ่งแวดล้อม
2. เลือกเรื่องและจัดเนื้อเรื่องที่พูด
3. เตรียมตัวผู้พูด
การเตรียมการพูด
1. จงคิดก่อนว่า จะพูดเรื่องอะไร
2. การเริ่มเขียนหัวข้อไว้ก่อน แล้ว เรียบเรียงแนวคิดประเด็นเสนอ
3. ค้นคว้าเพิ่มเติมจากตำราหรือสิ่งพิมพ์ ต่าง ๆ โดยเฉพาะตัวเลข วันเดือนปี ชื่อคน หรือชื่อสถานที่ต้องถูกต้องแม่นยำ
4. ขัดเกลา หรือตัดทอน ให้ เนื้อความสละสลวย ไม่เยิ่นเย้อหรือห้วนเกินไป เตรียมเหตุผล ข้ออ้างอิง ตัวอย่าง คำคมต่าง ๆ ให้พร้อม
5. นำมาอ่านดู ออกเสียงดัง ๆ หลาย ๆ เที่ยว จนจำขึ้นใจ ดูว่ามีคำนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุปครบถ้วนไหม
6. การเตรียมการพูด ไม่ใช่การท่องจำ แต่ต้องแม่นในแนวคิด และประเด็นเสนอ อย่าไปจำคำพูดของใครมาทั้งหมด
7. จะต้องฝึกหัดพูดคนเดียวหน้ากระจกหลาย ๆ ครั้ง จะวางท่าทางอย่างไร จะใช้ภาษามือให้เหมาะสม กลมกลืนอย่างไร จะวางสีหน้าอย่างไรถึงจะดูเป็นธรรมชาติ
อุปสรรคของการพูด
1. พูดไม่ชัด
2. พูดไม่ถูกจังหวะ อักขระ
3. วรรคตอนไม่ถูกต้อง
4. สั่น ประหม่า
ถ้าการพูดมีความสำคัญมากอย่างนี้ แล้วทำไมเราไม่ฝึกเพื่อที่จะเป็นผู้ที่มีทักษะด้านการพูด เมื่อเราพูดได้และพูดเป็นไปพร้อม ๆ กันชีวิตด้านอาชีพการงานหรือด้านสังคมคงจะมีอะไรที่น่าค้นหาอีกไม่น้อย แต่ปัจจัยอยู่ที่ว่าไม่กล้าที่จะพูดหรือยากต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือก็คงมองไม่เห็นถึงความสำคัญของการพูดเท่าทีควร คำตอบอยู่ที่ว่า ต้องการเปลี่ยนแปลง แล้วเราจะมีเส้นทางอีกเส้นทางหนึ่งที่พร้อมจะนำไปสู่ความสำเร็จด้านต่าง ๆ ของชีวิตได้ “การที่เราจะไปหนแห่งไหนสักแห่ง หรือหลายแห่ง ก็ย่อมเริ่มจากการก้าวครั้งแรก ถ้ากลัวไม่กล้า ในการตัดสินใจที่จะก้าวครั้งแรก นั้นก็หมายถึงการสิ้นสุดของการเดินทาง”
วิธีการที่จะเป็นนักพูดที่ดีได้
1. ต้องเป็นคนที่กล้าที่จะพูด
2. ต้องพูดในสิ่งที่เหมาะสม
3. ต้องพูดให้น่าฟังไม่เบื่อ หรือตามสถานการณ์
4. ต้องพูดให้ถูกต้องชัดเจนและฉะฉาน
5. ต้องพูดให้เหมาะสมกับเวลา
6. ต้องพูดให้ประทับใจก่อนจบการพูด
เมื่อท่านเกิดความกล้าและทำตามหลักการการเป็นผู้พูดที่ดีข้างต้นนั้นเราก็จะสามารถเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการพูดได้ชัดเจน แต่บัญญัติของผู้เริ่มต้นคือ ความกล้า และฝึกฝน เราก็จะสามารถเป็นนักพูดที่ดีได้อย่างแน่นอน "บางสิ่งเมื่อสมควรพูดต้องพูด แต่เมื่อไม่สมควรก็อย่าพูด"