"เส้นทางเถ้าแก่" วันนี้มาที่ จ.พะเยา พบกับ น.ส.จิดาภา มิ่งขวัญ มีความคิดสร้างสรรค์หยิบกะลามะพร้าวมาแปรรูปเป็นของที่ระลึกและเครื่องประดับ
ทำไมจึงคิดมาประดิษฐ์กะลา?
"ต้นคิดเรื่องการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้จากกะลามะพร้าวไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลยแม้แต่น้อย มีอยู่วันหนึ่งกับพ่อยืนมองต้นมะพร้าวพื้นเมืองที่ขึ้นอยู่สองต้นหน้าบ้าน ถึงเวลาลูกมะพร้าวที่แก่ได้ที่จนแห้งก็ร่วงหล่นลงมาลูกแล้วลูกเล่า ทิ้งไว้ก็เสียเปล่า ทิ้งก็เป็นขยะไม่มีคุณค่าอะไรเลย มาคิดกับพ่อในตอนนั้นว่า ทำอย่างไรกับมะพร้าวที่ร่วงเหล่านี้ให้มีคุณค่าและมูลค่า เพราะจะปล่อยให้ร่วงก็เสียเปล่าเท่านั้น
เริ่มทำจากของง่ายๆ
เริ่มทำจากที่ง่ายๆ เช่น กระบวย พวงกุญแจ กิ๊บติดผม ต่างหู ฯลฯ จากนั้นก็พยายามคิดและแปลงสภาพของกะลา เจาะรู ฉลุให้เป็นรูปร่างแปลกๆ จนในปี 2550 ทำอย่างจริงจังและเป็นงานอดิเรกประกอบกับเป็นคนชอบคิดสร้างสรรค์ ทำให้มีรูปแบบใหม่ๆ ออกมาบ่อย เดี๋ยวนี้ทำได้หลากหลายขึ้น เช่น ออมสินตุ๊กตากะลา โคมไฟสารพัดรูปแบบ มีทั้งตุ๊กตา ช่อทะลายมะพร้าว โคมไฟกะลากว๊านพะเยา
งานไม่ซ้ำแบบ
"ความโดดเด่นของกะลาพะเยาคือ รูปแบบไม่ซ้ำใคร โดยเฉพาะกะลาที่นำมาทำเป็นโคมไฟ เช่น มะพร้าวน้ำหอมทั้งทลายนำมาทำเป็นโคมไฟสีต่างๆ หรือโคมไฟเป็นพวง กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสปานิยมนำไปตกแต่งสถานที่ สื่อถึงความเป็นธรรมชาติด้วยสีธรรมชาติของกะลามะพร้าว"
สั่งงานต้องใจเย็น
"เป็นงานประดิษฐ์ที่มาจากกะลาพะเยาตรงนี้ เป็นงานฝีมือล้วนๆ มาจากภูมิปัญญา หากจะสั่งงานแล้วเร่งด้วยการกำหนดระยะเวลาคงจะทำให้งานที่ออกมามีความสมบูรณ์ได้ยาก ดังนั้น เมื่อมีสั่งเข้ามาต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าพร้อมกับขอเวลาในการทำงานพอสมควร หากต้องการงานที่มีคุณภาพและคุณค่าจากธรรมชาติจริงๆ ลูกค้าจะเข้าใจ"
ทำคนเดียว
ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ต้องทำเพียงคนเดียว ตั้งแต่คัดมะพร้าว กะลา ตัดแยกชิ้นส่วน ปรับแต่งชิ้นส่วน จนถึงการประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ เนื่องจากคนงานที่เคยมีและจ้างรายวันมีน้อยลง อาจจะเพราะงานลักษณะนี้เป็นงานละเอียดต้องใช้ความอดทนสูง คนเรียนรู้และสนใจจริงๆ เท่านั้นจึงจะมาช่วยงานได้ แต่ก็พร้อมที่จะให้ความรู้กับคนที่ต้องการเสมอ
ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม
"อาจจะเพราะว่างานกะลาพะเยาเป็นงานฝีมือ มีลูกค้าที่ต้องการเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างบีบรัด ธุรกิจสปาคือกลุ่มเป้าหมายที่หลายคนต้องการใช้บริการเพื่อสุขภาพ ใช้วัตถุธรรมชาติ เช่น กะลามะพร้าว จานเทียนหอม รวมทั้งตุ๊กตาใส่กำยาน ดังนั้น สภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสของกะลาพะเยา"
ผลิตภัณฑ์กะลาพะเยาแห่งนี้นอกจากจะเป็นภูมิปัญญาที่สร้างเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์มะพร้าวพันธุ์พื้นเมือง และลดปริมาณขยะ รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว สนใจติดต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ที่ 08-9516-9040 เลขที่ 133/1 หมู่ 9 บ้านทุ่งรวงทอง ต.ทุ่งรวงทอง อ.จุน จ.พะเยา 56150
ที่มาจาก : ข่าวสด