ชื่อรายงานเรื่อง : รายงานผลการใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนบ้านแม่กื้ดหลวงกัญไชยมิตรภาพที่ 182
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2
ชื่อผู้รายงาน : นางนิตยา อุ่นใจ
สาขาวิชา : กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรมแนะแนว)
ปีการศึกษา : 2552
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
1. พัฒนาชุดกิจกรรมแนะแนว เพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 3 โรงเรียนบ้านแม่กื้ดหลวงกัญไชย มิตรภาพที่ 182 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2
2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ ผลของการใช้ชุดกิจกรรมแนะแนว เพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนก่อนและหลังการใช้ชุดกิจกรรมแนะแนว
3. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างความฉลาด
ทางอารมณ์
วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า
1. ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และงายวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุดกิจกรรมแนะแนวและความฉลาด
ทางอารมณ์
2. ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ คือ แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ของกรมสุขภาพจิต โดยนำไปทดลองใช้กับนักเรียนจำนวน 37 คน เพื่อนำคะแนนที่ได้มาหาค่าจำแนกรายข้อและหาความเที่ยงของแบบวัดทั้งฉบับ
3. สร้างและพัฒนาชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ และตรวจสอบประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมแนะแนว โดยให้ผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน ประเมินความตรงตามเนื้อหาและความตรงเชิงโครงสร้าง และนำชุดกิจกรรมแนะแนวไปใช้กับนักเรียนระดับเดียวกันแต่อยู่ต่างโรงเรียนกัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงให้ชุดกิจกรรมมีความสอดคล้องทั้งด้านเนื้อหา เวลา ตลอดจนกระบวนการดำเนินกิจกรรม และภาษาที่ใช้
4. สร้างแบบสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมแนะแนว
5. ดำเนินการวัดความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับมอบหมาย
ให้ปฏิบัติหน้าที่สอนวิชากิจกรรมแนะแนวจำนวน 37 คน โดยใช้แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์
ของกรมสุขภาพจิต และใช้คะแนนที่ได้เป็นคะแนนก่อนการทดลอง (Pretest)
6. ดำเนินการทดลองกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 37 คน โดยใช้กิจกรรมแนะแนวตามชุดกิจกรรมจำนวน 14 กิจกรรม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที ในชั่วโมงกิจกรรมแนะแนว
ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 - วันที่ 28 สิงหาคม 2552
7. ทำการประเมินความฉลาดทางอารมณ์หลังการทดลอง (Posttest) โดยให้นักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 37 คน ทำแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์หลังการทดลองเสร็จสิ้น
8. นำคะแนนที่ได้จากแบบประเมินไปทำการวิเคราะห์ เปรียบเทียบด้วยวิธีการทางสถิติ
9. เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสำรวจความคืดเห็นของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมแนะแนว
และเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์
สรุปผลการศึกษาค้นคว้า
1. ได้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ จำนวน 14 กิจกรรม ที่ประกอบด้วย 1) คู่มือการใช้กิจกรรม 2) กิจกรรมแนะแนวและสื่อประกอบกิจกรรม 3) แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ที่ใช้ในการทดสอบก่อนและหลังการใช้กิจกรรม และมีประสิทธิภาพโดยมีดัชนีความสอดคล้องภายในของแต่ละกิจกรรมอยู่ระหว่าง .80 – 1.0 ค่าเฉลี่ยความสอดคล้องเท่ากับ .95
ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน 4) แบบสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อ
ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์
2. ผลการทดลองใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียน พบว่า
คะแนนความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหลังการเข้าร่วมกิจกรรมมีคะแนนที่ได้จากการประเมินความฉลาดทางอารมณ์สูงขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
แสดงว่า ชุดกิจกรรมแนะแนวสามารถเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนได้
3. ผลการศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ ปรากฏว่านักเรียนมีความคิดเห็นต่อชุดกิจกรรมแนะแนวอยู่ในระดับเห็นด้วยมากที่สุด