หัวข้อรายงาน การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
(งานบ้าน) หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เรื่องอาหารและโภชนาการ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้รายงาน นางประไพ พรหมประเสริฐ
สถานศึกษา โรงเรียนวัดมโนรม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ชลบุรี เขต 3 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ที่ปรึกษา อ.ปารมรัตน์ เชื่อมสามัคคี อ.สมพร นิสัยสุข
รายงานครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ก่อนเรียนและหลังการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เรื่องอาหารและโภชนาการ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ในการเรียนบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้คือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 30 คน โดยมาจากวิธีการสุ่มอย่างง่าย ( Simple Random sampling ) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1)แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างเพื่อใช้สอบถามผู้เชี่ยวชาญ 2)บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานบ้าน) หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เรื่องอาหารและโภชนาการ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 3)แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่องอาหารและโภชนาการ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 5)แบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าสถิติพื้นฐาน และค่าสถิติที ( t-test )
ผลการวิจัยพบว่า
1.ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานบ้าน) หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เรื่องอาหารและโภชนาการ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่าต้องการให้เป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป และไม่น่าเบื่อ มีรูปแบบใหม่ ๆตามความเหมาะสมกับนักเรียนมากที่สุด ส่วนด้านเนื้อหาต้องการให้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นภาพประกอบลักษณะการ์ตูน เน้นการปฏิบัติและศึกษาด้วยตนเอง โดยการศึกษาให้เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวไปเรื่องไกลตัว
2. ประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีค่าเท่ากับ 82.78 / 86.00 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ 80/80 และการประเมินคุณภาพสื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 6 ท่าน ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย ( X ) = 4.57 หมายถึง มากที่สุด
3. คะแนนทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนของกลุ่มตัวอย่างเท่ากับ t = 16.58 และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
4. ผลการประมวลและวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน มีค่าความพึงพอใจอยู่ในระดับ มาก (4.11) และเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้